กฟน. จับมือจุฬาฯ ร่วมพัฒนา Smart City พื้นที่สยาม
เมื่อวันที่ 5 เมษายน 2562 นายกีรพัฒน์ เจียมเศรษฐ์ ผู้ว่าการการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) พร้อมด้วย ศาสตราจารย์ ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมพิธีลงนามความร่วมมือการพัฒนาระบบจ่ายไฟฟ้าและนวัตกรรม รองรับโครงการเมืองจุฬาฯ อัจฉริยะ (CHULA Smart City) ณ อาคารวัฒนวิภาส การไฟฟ้านครหลวงสำนักงานใหญ่ คลองเตย
ผู้ว่าการการไฟฟ้านครหลวง กล่าวว่า กฟน. ในฐานะองค์กรที่มุ่งเน้นสร้างสรรค์นวัตกรรม ขับเคลื่อนระบบพลังงานอัจฉริยะเพื่อวิถีชีวิตเมืองมหานคร ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของพื้นที่บริเวณจุฬาลงกรณ์ และสยามสแควร์ ซึ่งถือเป็นพื้นที่ใจกลางกรุงเทพมหานคร ที่มีศักยภาพในด้านเศรษฐกิจ การท่องเที่ยว และการศึกษาของประเทศ โดยในปี 2561 กฟน. ได้ลงนามความร่วมมือโครงการร่วมพัฒนาเมืองจุฬาฯ อัจฉริยะ เพื่อร่วมกันศึกษา พัฒนารูปแบบเมืองอัจฉริยะ (Smart City) ในพื้นที่ในการดูแลของมหาวิทยาลัย และพัฒนาชุมชนเมืองที่มีสิ่งอำนวยความสะดวกให้ได้รับคุณภาพชีวิตที่ดี กระทั่งล่าสุด การร่วมลงนามครั้งนี้ ในปี 2562 ถือเป็นการต่อยอดการบูรณาร่วมกันทั้งสองหน่วยงาน เพื่อเริ่มดำเนินการปรับปรุงและพัฒนาระบบไฟฟ้าเทคโนโลยีนวัตกรรมที่เกี่ยวข้องมาใช้ในพื้นที่การศึกษาและพื้นที่เชิงพาณิชย์ รวม 1,153 ไร่ ล้อมรอบด้วยถนนพระราม 4 – ถนนพระราม 1 – ถนนบรรทัดทอง – ถนนอังรีดูนังต์ โดยแบ่งเป็นโครงการต่าง ๆ ดังนี้
1. ปรับปรุงระบบจำหน่ายไฟฟ้าเป็นระบบไฟฟ้าใต้ดิน เพื่อรองรับความต้องการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น ทำให้ระบบไฟฟ้าให้มีความเพียงพอ มั่นคง ปลอดภัย มีทัศนียภาพและสิ่งแวดล้อมในพื้นที่จุฬาฯ ให้สวยงาม โดยปรับปรุงระบบจำหน่ายในพื้นที่สยามสแควร์เป็นระบบสายใต้ดิน ภายในปี 2562 และครอบคลุม ทั้งพื้นที่จุฬาฯ ภายในปี 2564
2. พัฒนาระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ เพื่อส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน ซึ่งในพื้นที่จุฬาฯ มีศักยภาพในการติดตั้ง Solar rooftop ประมาณ 20 เมกะวัตต์
3. ติดตั้งระบบกักเก็บพลังงาน (Energy storage System) ขนาด 1.2 เมกะวัตต์ชั่วโมง ที่สถานีไฟฟ้าย่อยปทุมวัน ภายในปี 2563
4. พัฒนาระบบมิเตอร์อัจฉริยะ (AMI) ภายในปี 2564 ทำให้สามารถเก็บข้อมูลการใช้ไฟฟ้า ซึ่งหัวใจสำคัญในการเชื่อมโยงและบริหารจัดการพลังงาน ในพื้นที่ Smart City
5. พัฒนาระบบโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ (Smart Grid) ภายในปี 2564 ทำให้สามารถควบคุมและแก้ไขระบบไฟฟ้าขัดข้องอย่างอัตโนมัติ ควบคุมคุณภาพไฟฟ้า เช่น แรงดันไฟฟ้า ให้อยู่ในมาตรฐานการให้บริการ และผู้ใช้ไฟฟ้าสามารถบริหารจัดการการใช้ไฟฟ้าได้
#พลังงานเพื่อวิถีชีวิตเมืองมหานคร Energy for city life, Energize smart living