-EconomicsInsuranceLocal-newsข่าวแดนอิสาน

คปภ. ยกพลบุก “เมืองย่าโม” ติดอาวุธประกันภัยให้เกษตรกรรับมือภัยธรรมชาติ+ภัยช้างป่า

นครราชสีมา (4เม.ย.2562) นายสุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เป็นประธานเปิดโครงการอบรมความรู้ประกันภัย ตาม“โครงการอบรมความรู้ประกันภัย (Training for the Trainers) สำหรับการประกันภัยข้าวนาปีและข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ประจำปี 2562” ณ โรงแรมแคนทารี่ โคราช จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งมีนายจรัสชัย โชคเรืองสกุล รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา ให้การต้อนรับ และเพื่อเป็นการสร้างเครือข่ายและเพิ่มช่องทางการให้ความรู้ด้านประกันภัยแก่เกษตรกรอย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพ ก่อนพิธีเปิดโครงการอบรมฯ เลขาธิการ คปภ. ได้ลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ว่าด้วยเรื่องการบูรณาการส่งเสริมความรู้และสิทธิประโยชน์ด้านการประกันภัย กับ หอการค้าจังหวัดนครราชสีมา โดยมีนายศักดิ์ชาย ผลพานิชย์ รองประธานกรรมการฝ่ายสื่อสารองค์กรและประชาสัมพันธ์ เป็นผู้แทนในการลงนาม นายจรัสชัย โชคเรืองสกุล รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา และนายอัฐพล สัมพันธ์วงศ์ รองประธานกรรมการฝ่ายส่งเสริมธุรกิจการค้าสตาร์ทอัพและกิจการพิเศษ ร่วมเป็นสักขีพยาน

สำหรับกรอบความร่วมมือดังกล่าว จะมุ่งเน้นการส่งเสริมและผลักดันให้ผู้ประกอบการพาณิชยกรรมและอุตสาหกรรมในจังหวัดนครราชสีมา ได้รับความรู้ด้านการประกันภัย เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการบริหารความเสี่ยงและเป็นหลักประกันความมั่นคงในการดำเนินธุรกิจ ตลอดจนเป็นเครือข่ายในการถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านประกันภัยไปสู่เกษตรกรและภาคส่วนต่างๆในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมาอย่างครบวงจร

ในโอกาสนี้ เลขาธิการ คปภ. ยังได้กล่าวถึงโครงการประกันภัยข้าวนาปี มีใจความสำคัญว่าโครงการปีนี้ มีความโดดเด่นที่แตกต่างจากโครงการปีก่อนๆ สำคัญ 3 ประการคือ ประการแรก รูปแบบการทำประกันภัยปีนี้รัฐบาลมีหลักการให้เกษตรกรมีส่วนร่วมในการจ่ายค่าเบี้ยประกันภัย โดยสามารถซื้อหรือทำประกันภัยเพิ่ม เพื่อให้ได้รับความคุ้มครองมากขึ้น ประการที่สอง มีการเพิ่มความคุ้มครอง “ภัยช้างป่า” เข้ามาอีก 1 ภัย ทำให้สามารถคุ้มครองความเสี่ยงภัยกับเกษตรกรได้ถึง 8 ประเภท จากเดิมที่ครอบคลุมภัยจากน้ำท่วมหรือฝนตกหนัก ภัยแล้ง ฝนแล้งหรือฝนทิ้งช่วง ลมพายุหรือพายุไต้ฝุ่น ภัยอากาศหนาวหรือน้ำค้างแข็ง ลูกเห็บ ไฟไหม้ และภัยแมลงศัตรูพืชหรือโรคระบาด

ประการที่สาม มีการกำหนดอัตราค่าเบี้ยประกันภัยสำหรับความคุ้มครองพื้นฐาน (ส่วนที่ 1) อยู่ที่ 85 บาทต่อไร่ทุกพื้นที่ทั่วประเทศ โดยรัฐบาลอุดหนุน 51 บาทต่อไร่ และ ธ.ก.ส. อุดหนุน 34 บาทต่อไร่ (ซึ่งเบี้ยประกันภัยลดลงจากโครงการประกันภัยข้าวนาปี ปีการผลิต 2561 ที่มีอัตราเบี้ยประกันภัย 90 บาทต่อไร่) โดยมีความคุ้มครองพื้นฐาน (ส่วนที่ 1) อยู่ที่ 1,260 บาทต่อไร่

ส่วนภัยจากศัตรูพืชหรือโรคระบาด 630 บาทต่อไร่ เกษตรกรที่จ่ายค่าเบี้ยประกันภัยสำหรับความคุ้มครอง (ส่วนที่ 2) ตามพื้นที่เสี่ยงภัยสูง ปานกลางและต่ำ ดังนั้นเกษตรกรที่ทำประกันภัย (ส่วนที่ 1+ ส่วนที่ 2) ในคราวเดียวกัน จะได้รับความคุ้มครองอยู่ที่ 1,500 บาทต่อไร่ และจะได้รับความคุ้มครองจากภัยศัตรูพืชหรือโรคระบาด 750 บาทต่อไร่ ในส่วนของการประกันภัยข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปีการผลิต 2562 มีอัตราค่าเบี้ยประกันภัย 59 บาทต่อไร่ ทุกพื้นที่ทั่วประเทศ โดยรัฐบาลอุดหนุน 35.4 บาทต่อไร่ และ ธ.ก.ส. อุดหนุน 23.6 บาทต่อไร่ โดยมีความคุ้มครองพื้นฐาน (ส่วนที่ 1) อยู่ที่ 1,500 บาท ส่วนภัยจากศัตรูพืชหรือโรคระบาด 750 บาทต่อไร่ เกษตรกรที่จ่ายค่าเบี้ยประกันภัย สำหรับความคุ้มครองส่วนเพิ่ม (ส่วนที่ 2) ตามพื้นที่ความเสี่ยงภัยสูง ปานกลางและต่ำ ดังนั้นเกษตรกรที่ทำประกันภัย (ส่วนที่ 1 + ส่วนที่ 2) ในคราวเดียวกัน จะได้รับความคุ้มครองอยู่ที่ 1,740 บาทต่อไร่ และจะได้รับความคุ้มครองจากภัยศัตรูพืชหรือโรคระบาด 870 บาทต่อไร่

“ผมขอเชิญชวนให้พี่น้องเกษตรกรในพื้นที่บริหารความเสี่ยงด้วยการนำประกันภัยข้าวนาปี และประกันภัยข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ โดยสามารถทำประกันภัยได้ตั้งแต่บัดนี้ถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2562 (ยกเว้นภาคใต้ถึง 15 ธันวาคม 2562) และเพื่อเป็นการเพิ่มช่องทางให้ข้อมูลรายละเอียดเกี่ยวกับประกันภัยข้าวนาปีและข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ สำนักงาน คปภ. ได้จัดทำ Mobile Application ชื่อ “กูรูประกันภัย” เพื่อใช้เป็นแหล่งข้อมูลความรู้ด้านประกันภัยข้าวนาปีและข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในมิติต่างๆ ดังนั้นจึงอยากเชิญชวนให้เกษตรกรและผู้ที่สนใจ โหลดแอพพลิเคชั่นนี้เพื่อใช้เป็นข้อมูลบริหารความเสี่ยงจากภัยธรรมชาติด้วยระบบประกันภัย และหากมีข้อสงสัยหรือต้องการข้อมูลเพิ่มเติมสามารถสอบถามได้ที่ สายด่วน คปภ. 1186” เลขาธิการ คปภ. กล่าวในตอนท้าย