-Local-newsnorthern-news

ชาวบ้านตั้งตารออ่างเก็บน้ำแม่ตาช้าง

            กรมชลฯ เดินหน้าเร่งศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมสร้างอ่างเก็บน้ำแม่ตาช้างสนองความต้องการในพื้นที่    ชาวบ้านมั่นใจน้ำจะช่วยเพิ่มโอกาสในการทำเกษตรเพิ่มรายได้ไม่น้อยกว่า 50%


            (เชียงราย, 9 กันยายน2562)  นายเฉลิมเกียรติ  คงวิเชียรวัฒน์ รองอธิบดีกรมชลประทาน ฝ่ายวิชาการ  นำคณะสื่อมวลชนสัญจรลงพื้นที่ ต.ป่าแดด อ.แม่สรวย เพื่อติดตามความคืบหน้าผลกระทบสิ่งแวดล้อม(EIA)ของการสร้างอ่างเก็บน้ำแม่ตาช้าง  โดยก่อนหน้านี้เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านชาวบ้านจาก ต.ป่าแดด ได้เข้าไปติดตามผลการศึกษาถึงกรมชลประทาน

            ในโอกาสนี้ นายสนั่น  อินต๊ะไชยวงศ์ กำนันตำบลป่าแดด และชาวบ้านได้ยื่นจดหมายเปิดผนึกพร้อมเอกสารประกอบรายงานการติดตามโครงการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำแม่ตาช้าง ต่อนายเฉลิมเกียรติ   โดยระบุว่า ”ขอติดตามและเร่งรัดโครงการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำแม่ตาช้าง ต.ป่าแดด อ.แม่สรวย จ.เชียงราย”

            นายสนั่น กล่าวภายหลังการยื่นจดหมายว่า เมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ.2536 คณะกรรมการสภาตำบลได้ร้องขอรับการสนับสนุนให้มีการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำแม่ตาช้างเพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำในช่วงฤดูแล้งของราษฏรในพื้นที่ ต.ป่าแดดและพื้นที่ใกล้เคียง  แต่มีกลุ่มเคลื่อนไหวจากภายนอกเข้ามาสร้างความสับสนให้กับราษฏร ทำให้เกิดกระแสคัดค้านจนผ่านเวลามากว่า 20 ปี  แต่หลังจากมีการจัดเวทีภาคประชาชนประชุมร่วมกันเป็นระยะ  ทุกฝ่ายต่างเห็นประโยชน์ที่จะได้รับจากการมีอ่างเก็บน้ำจึงได้มีการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมภาคประชาชนเพื่อแสดงให้เห็นว่า ราษฏรในพื้นที่ต้องการอ่างเก็บน้ำจริง ๆ

            นายเฉลิมเกียรติ กล่าวหลังรับจดหมายว่า แม้ชาวบ้านจะต้องการให้สร่างอ่างเก็บน้ำโดยเร็ว  แต่เนื่องจากผลกระทบที่จะเกิดหลังการก่อสร้างมีมากพอสมควร   โดยเฉพาะพื้นที่ในภาคเหนือซึ่งอยู่ในเขตที่มีรอยเลื่อนของแผ่นดินไหว  ทำให้ต้องศึกษาอย่างรัดกุม  อย่างไรก็ตามการศึกษามีความคืบหน้าดี  ทำให้คาดว่าจะสามารถสรุปผลได้ภายในปี 2562 นี้และคงจะดำเนินการออกแบบได้เสร็จภายในปี 2563 และอาจจะเริ่มดำเนินการก่อสร้างได้ในปีเดียวกัน  คาดว่าจะเสร็จสมบูรณ์ได้ในปี 2566

            นายเฉลิมเกียรติ กล่าวต่อไปว่า หลังจากการศึกษาเพิ่มเติมพบว่าผลกระทบที่เกิดขึ้นจากโครงการดังกล่าวประกอบด้วย พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าแม่ลาวฝั่งซ้ายอีก 1,540 ไร่ แบ่งเขตป่าอนุรักษ์เพิ่มเติม (Zone C) 788 ไร่ ป่าเศรษฐกิจ (E) 752 ไร่ นอกเขตป่าสงวน 110 ไร่ ซึ่งปัจจุบันมีสภาพเป็นพื้นที่ป่าไม้ 102 ไร่ ป่าเต็งรัง 93 ไร่ ป่าเบญจพรรณ 9 ไร่ รวมถึงในด้านคมนาคมที่จะทำให้ถนนทางเข้าหมู่ 18 บ้านแม่ตาช้างที่เชื่อมต่อกับทางหลวงหมายเลข 109 บริเวณ กม.12+500 ระยะทาง 2.5 กม. ไม่สามารถสัญจรไปมาได้ ทั้งยังกระทบผู้มีที่ดินทำกินและผู้อยู่อาศัยในบริเวณจัดทำโครงการดังกล่าวอีก 152 ราย

                “ทางกรมชลประทานมีแนวทางป้องกัน แก้ไข และลดผลกระทบ ผ่านการดำเนินการปลูกป่าทดแทนในพื้นที่ป่าไม้บริเวณใกล้เคียง 3,080 ไร่ หรือ 2 เท่า ของพื้นที่ป่าสงวนแม่ลาวที่สูญเสียไปจากการทำโครงการดังกล่าว โดยใช้ไม้ที่มีคุณค่าเชิงเศรษฐกิจ และเร่งกำหนดอัตราชดเชยทรัพย์สินให้ประชาชนที่ได้รับผลกระทบอย่างเป็นธรรม ผ่านการคำนึงถึงผู้ได้รับผลกระทบ นอกจากนี้กรมชลประทานยังต้องดำเนินการสร้างถนนทดแทนให้ประชาชน หมู่ที่ 18 เพื่อทดแทนถนนเดิมที่จะถูกน้ำท่วมอีกด้วย” นายเฉลิมเกียรติกล่าว

            นายเฉลิมเกียรติ อธิบายเพิ่มเติมว่าจากการศึกษาเบื้องต้นโครงการอ่างเก็บน้ำแม่ตาช้างจะมีพื้นที่หัวงานอยู่บริเวณตำบลป่าแดด อำเภอแม่สรวย จังหวัดเชียงราย ปิดกั้นลำห้วยแม่ตาช้าง ซึ่งเป็นสาขาของแม่น้ำลาว มีพื้นที่รับน้ำ 100.8 ตร.กม. พื้นที่ระดับน้ำสูงสุด 1,375 ไร่ พื้นที่ระดับน้ำเก็บกัก 1,281 ไร่ และพื้นที่ระดับน้ำต่ำสุด 250 ไร่ มีความจุอ่างเก็บน้ำที่ระดับสูงสุด 36 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) ระดับน้ำสูงสุด +520.25 ม.รทก. มีความจุอ่างเก็บน้ำที่ระดับเก็บกัก 32 ล้าน ลบ.ม. ระดับน้ำเก็บกัก +519 ม.รทก. โดยพื้นที่ที่เกี่ยวข้องมีปริมาณฝนเฉลี่ย 1,511 มิลลิเมตร และมีน้ำท่า 39.92 ล้าน ลบ.ม. การจัดทำอ่างเก็บน้ำจึงเป็นการสร้างความมั่นคงทางแหล่งน้ำให้ประชาชนในพื้นที่

            นายประพันธ์  แก้วมณี ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ที่ 6 ต.ป่าแดดซึ่งเป็นหมู่บ้านที่จะได้รับผลกระทบโดยตรงจาการสร้างอ่างเก็บน้ำ  กล่าวว่า   ชาวบ้านหมู่ 6 ไม่กลัวกับผลกระทบจากการสร้างอ่าง  เรื่องการจ่ายค่าชดเชยก็เชื่อว่าจะได้รับอย่างยุติธรรม  ทุกคนเข้าใจดีว่าจะต้องมีการเสียสละเพื่อประโยชน์ส่วนรวมซึ่งพวกตนก็จะได้รับประโยชน์นั้นด้วย  โดยเฉพาะในส่วนของการทำเกษตรกรรม  เพราะเมื่อมีน้ำก็จะเพิ่มโอกาสในการเลือกเพาะปลูกได้มากขึ้น

                “เราอยู่ต้นน้ำ  ฝนตกลงมาเราก็มีน้ำใช้  แต่น้ำส่วนใหญ่ไหลผ่านพวกเราไป  ไม่มีที่เก็บไว้ใช้ในหน้าแล้ง  บางพื้นที่ก็ทำได้ทั้งหน้าปีนาปรัง  แต่ส่วนใหญ่ทำได้ปีละครั้ง  ถ้ามีน้ำเราก็จะทำให้ 2 ครั้ง  บางคนก็อยากปลูกข้าวญี่ปุ่นที่ได้ราคาดี  แต่น้ำไม่มี  ถ้ามีน้ำเชื่อว่าเราจะมีรายได้เพิ่มอย่างน้อย 50%”นายประพันธ์กล่าว