องคมนตรี ติดตามความก้าวหน้าโครงการในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง
วันพุธที่ 10 กรกฎาคม 2562 เวลา 11.00 น. นายพลากร สุวรรณรัฐ องคมนตรี ในฐานะประธานอนุกรรมการติดตามและขับเคลื่อนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริพื้นที่ภาคเหนือ พร้อมคณะอนุกรรมการฯ เดินทางไปยังโครงการสถานีพัฒนาการเกษตรที่สูงตามพระราชดำริ บ้านสบขุ่น อำเภอท่าวังผา จังหวัดน่าน เพื่อติดตามการดำเนินงานและเยี่ยมราษฎรในพื้นที่โครงการฯ
โครงการสถานีพัฒนาการเกษตรที่สูงตามพระราชดำริ บ้านสบขุ่น เป็นโครงการที่เกิดขึ้นจากพระมหากรุณาธิคุณในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงห่วงใยในทรัพยากรธรรมชาติโดยเฉพาะพื้นที่ป่าไม้ตลอดจนชีวิตความเป็นอยู่ของราษฎร จึงมีพระราชดำริให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดตั้งสถานีพัฒนาการเกษตรที่สูง เพื่อให้คำแนะนำส่งเสริมการทำเกษตรที่ถูกหลักวิชาการ เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ เพื่อลดการบุกรุกทำลายป่า โดยให้ราษฎรเข้ามามีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ฟื้นฟูระบบนิเวศและเรียนรู้การทำการเกษตรที่ถูกต้อง จากการดำเนินงานโครงการฯ ราษฎรได้ร่วมกันฟื้นฟูดูแลรักษาป่าต้นน้ำลำธารได้ จำนวน 10,500 ไร่ โดยมีการปลูกป่าทดแทน จำนวน 6,400 ไร่ พื้นที่ป่าธรรมชาติ 4,100 ไร่ นอกจากนี้ยังร่วมกันสร้างฝายชะลอน้ำเพื่อสร้างความชุ่มชื้น ทำให้ราษฎรมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นโดยนำความรู้ที่ได้รับจากโครงการฯ มาประยุกต์ใช้ เช่น การปลูกผัก การเลี้ยงสัตว์เพื่อบริโภคในครัวเรือนเป็นการลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ สามารถพึ่งพาตนเองได้
ในการนี้ องคมนตรีและคณะ ได้พบปะประชาชนที่ได้รับประโยชน์จากโครงการสถานีพัฒนาการเกษตรที่สูงตามพระราชดำริ บ้านสบขุ่น พร้อมซักถามถึงชีวิตความเป็นอยู่และการประกอบอาชีพ ซึ่งได้สร้างขวัญและกำลังใจให้กับราษฎรและผู้ปฏิบัติงานครั้งนี้
หลังจากนั้นองคมนตรีและคณะได้รับฟังบรรยายสรุปจากหัวหน้าสถานีพัฒนาการเกษตรที่สูงตามพระราชดำริ บ้านสบขุ่น ถึงการดำเนินงานและความคืบหน้าของโครงการ และเยี่ยมชมนิทรรศการผลสำเร็จ และรับทราบชีวิตความเป็นอยู่ ปัญหา อุปสรรคต่างๆ เพื่อหาแนวทางแก้ไข สนองพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงสืบสาน รักษา ต่อยอดโครงการให้เกิดประโยชน์อย่างยั่งยืน โอกาสนี้ร่วมปล่อยพันธุ์ปลาประจำถิ่น จำนวน 2,000 ตัว ได้แก่ ปลามัน ปลาตะเพียนขาว ปลากระแห ปลาปีกแดง เพื่อแพร่ขยายพันธุ์ในแหล่งน้ำธรรมชาติต่อไป
นอกจากนี้องคมนตรีและคณะได้ร่วมกิจกรรมดำนาโยน และปลูกต้นตะเคียนทองในพื้นที่โครงการ จากนั้นชมการนำเสนอผลงานด้านการเกษตร จากหน่วยงานต่างๆ อาทิ ข้าวแบบนาขั้นบันได พืชผลทางการเกษตร ปศุสัตว์ ประโยชน์ของพื้นที่ป่าที่ได้รับการฟื้นฟู งานด้านชลประทานเพื่อการเกษตร ซึ่งมีความคืบหน้าและประสบความสำเร็จในหลายๆ ด้าน เป็นที่น่าพอใจยิ่ง