-Local-newsnorthern-news

กรมชลประทานชู”สะเอียบโมเดล”เปิดมิติใหม่บริหารจัดการน้ำ

แพร่ ( 29 พ.ค.2562) นายเฉลิมเกียรติ คงวิเชียรวัฒน์ รองอธิบดีกรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมด้วย นายสุรัช ธนูศิลป์  ผู้อํานวยการสํานักบริหารโครงการ นายธวัช  ชัยประสพ ผู้อํานวยการโครงการชลประทานแพร่ นายไพโรจน์ วงศ์สูง ผู้อํานวยการโครงการส่งน้ำและบํารุงรักษาแม่ยม ร่วมเสวนากับ นายสมมิ่ง เหมืองร้อง สารวัตรกํานันตําบลสะเอียบ นายแต๋ง  อินทา นายกองค์การบริหารส่วนตําบลสะเอียบ นายอํานวย สะเอียบคง ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ที่ 6 และนายอุดม ศรีคำภา อดีตประธานสภาอบต.สะเอียบ ในหัวข้อ “พัฒนาการความสัมพันธ์ของกรมชลประทาน กับคนสะเอียบ” ในโครงการศึกษาความเหมาะสมและวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม อ่างเก็บน้ําแม่สกึ๋น 2 และอ่างเก็บน้ำห้วยเป้า

            ในการเสวนาครั้งนี้ได้มีการพูดถึงความขัดแย้งระหว่างภาครัฐและประชาชน จนถึงการประสานงานของมหาวิทยาลัยนเรศวรที่ลดความขัดแย้งจนนำไปสู่ความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคประชน  ทำให้เกิด “สะเอียบโมเดล”ที่เป็นการร่วมกันพัฒนาแหล่งน้ำ ตามความต้องการของชาวตำบลสะเอียบเสนอให้มุ่งไปในการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำตามลำน้ำสาขาย่อยของแม่น้ำยมแทนการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่  โดยเบื้องต้นชาวบ้านได้สำรวจและระบุพื้นที่ที่ต้องการให้สร้างไว้แล้ว 4 จุดคือ โครงการอ่างเก็บน้ำห้วยโป่ง  โครงการอ่างเก็บน้ำห้วยเป้า โครงการอ่างเก็บน้ำห้วยแม่เต้นตอนบน และโครงการอ่างเก็บน้ำแม่สกึ๋น 2  โดยเบื้องต้นได้ทำการศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและความเหมาะสมโครงการอ่างเก็บน้ำแม่สกึ๋น 2 และโครงการอ่างเก็บน้ำห้วยเป้าแล้วตั้งแต่วันที่ 16 ตุลาคม 2531 กำหนดระยะเวลาศึกษา 300 วันจะสิ้นสุดวันที่ 11 สิงหาคม 2562  ผลประโยชน์ที่จะได้รับจากการดำเนินโครงการ คือ เป็นแหล่งเก็บกักน้ำเพื่อการเกษตร และการอุปโภค-บริโภคของประชาชนในพื้นที่  รวมถึงการเลี้ยงสัตว์ ซึ่งมักจะขาดแคลนน้ำในช่วงฤดูแล้ง อีกด้วย

            ก่อนการลงพื้นที่ นายทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน ได้ให้สัมภาษณ์ว่า ในอดีตการสร้างเครื่องมือบริหารจัดการน้ำทางตอนบนมีความเห็นที่ขัดแย้งกันมาตลอดระหว่างหน่วยงานราชการ กับประชาชนในพื้นที่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับชาวตำบลสะเอียบ ต่อมาได้มีการรับฟังความเห็น โดยมีมหาวิทยาลัยนเรศวร เป็นคนกลาง ทำให้เกิดการหาแนวทางออกร่วมกัน และกลายเป็นคำว่า “สะเอียบโมเดล” ขึ้น ซึ่งทั้ง 2 ฝ่ายต่างเห็นร่วมกันว่าในลำดับแรกการสร้างเครื่องมือบริหารจัดการน้ำทางตอนบน  ควรดำเนินการตามลุ่มน้ำสาขา ซึ่งชาวตำบลเป็นผู้จัดลำดับความสำคัญและเสนอให้เกิดขึ้น ดังนั้นจึงเป็นมิติใหม่ของกรมชลประทานที่มีปรับการทำงานจนสามารถช่วยกันหาทางออกร่วมกันกับคู่ขัดแย้งทางความคิดในอดีตได้

            สำหรับอ่างเก็บน้ำแม่สกึ๋น 2 จะมีตำแหน่งที่ตั้งอยู่ที่หมู่ที่ 6 บ้านดอนแก้ว ตำบลสะเอียบ อำเภอสอง จังหวัดแพร่ มีลักษณะเป็นเขื่อนดินถมแบ่งส่วน ความจุเก็บกัก 19.67 ล้าน ลบ.ม. มีพื้นที่รับน้ำฝน 104.39 ตร.กม. และมีพื้นที่ชลประทานได้ 7,500 ไร่ ทั้งนี้ในบริเวณดังกล่าว ทั้งอ่างเก็บน้ำห้วยเป้า อ่างเก็บน้ำห้วยโป่ง และอ่างเก็บน้ำแม่เต้นตอนบน คาดว่าจะมีปริมาณน้ำไหลลงอ่างอยู่ที่ 23.95 ล้าน ลบ.ม./ปี

ส่วนอ่างเก็บน้ำห้วยเป้าจะอยู่ที่หมู่ที่ 4 บ้านนาหลวง ตำบลสะเอียบ อำเภอสอง จังหวัดแพร่ มีความจุเก็บกัก 2.35 ล้าน ลบ.ม. มีพื้นที่รับน้ำฝน 11.3 ตร.กม. และมีพื้นที่ชลประทานได้ 2,280 ไร่ ทั้งนี้ในบริเวณดังกล่าวมีปริมาณน้ำท่าเฉลี่ยอยู่ที่ 2.89 ล้าน ลบ.

            ในการเสวนาครั้งนี้ นายสมมิ่ง กล่าวว่า ในอดีตตนถูกแต่งตั้งให้เป็นผู้นำการคัดค้านการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ในพื้นที่ตำบลสะเอียบจนมองว่าเจ้าหน้าที่ของกรมชลประทานเป็นศัตรู จนถึงขั้นไม่ยอมให้เข้าพื้นที่  แต่หลังจากมหาวิทยาลัยนเรศวรเข้ามาทำหน้าที่เป็นคนกลางประสานจนเกิดความเข้าใจแล้ว ชาวตำบลสะเอียบก็ยินดีที่จะให้ความร่วมมือ เพราะชาวบ้านต่างก็เห็นความสำคัยของการมีแหล่งน้ำ

            ระหว่างการลงพื้นที่ของนายเฉลิมเกียรติ ชาวบ้านรายหนึ่งถามว่าจะสร้างได้เมื่อไหร่ เพราะตนอายุมากแล้ว  เกรงว่าจะไม่ได้อยู่จนเห็นอ่างเก็บน้ำ ซึ่ง นายเฉลิมเกียรติ ยืนยันว่า  หลังจากศึกษาผลประทบและสำรวจพื้นที่ก่อสร้างเรียบร้อยแล้ว จะเริ่มการออกแบบได้และน่าจะลงมือก่อสร้างได้กลางปี 2563 และน่าจะแล้วเสร็จจนกักเก็บน้ำได้ในราวปี 2566

                “เพิ่งอายุแค่ 60 กว่าเอง  ต้องอยู่จนได้เห็นอ่างเก็บน้ำแน่” นายเฉลิมเกียรติ ยืนยันกับชาวบ้านคนดังกล่าว