-Local-newssouthern-news

ชป.เร่งศึกษาEIA อ่างฯ คลองใหญ่ หวังให้เป็นแหล่งเก็บน้ำต้นทุนหลักเมืองพัทลุง

นายเฉลิมเกียรติ คงวิเชียรวัฒน์ รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ราษฎรในพื้นที่ลุ่มน้ำนาท่อม จังหวัดพัทลุง ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม พืชที่เพาะปลูก ได้แก่ ข้าวและยางพารา ซึ่งมักจะประสบกับปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่ชุมชนและพื้นที่การเกษตรเกือบทุกปี กรมชลประทาน จึงได้ว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษาดำเนินการศึกษาความเหมาะสมของโครงการฯ และจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม เนื่องจากพื้นที่โครงการอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติเขาบรรทัด ป่าอนุรักษ์เพิ่มเติม(โซน C) มากกว่า 500 ไร่ และมีพื้นที่อ่างเก็บน้ำบางส่วนอยู่ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเทือกเขาบรรทัด จึงเข้าข่ายประเภทและขนาดโครงการที่จะต้องจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 26 เม.ย. 54 โดยขั้นตอนการศึกษาจะดำเนินตามแนวทางขอสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม อาทิ การศึกษาความเหมาะสมโครงการ การประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมด้านกายภาพ ชีวภาพ การใช้ประโยชน์ของมนุษย์และคุณภาพชีวิต รวมทั้งการประชาสัมพันธ์และมีส่วนร่วมของประชาชน

สำหรับพื้นที่ก่อสร้าง “อ่างเก็บน้ำคลองใหญ่” ตั้งอยู่ในเขตตำบลบ้านนา อำเภอศรีนครินทร์ จังหวัดพัทลุง ส่วนพื้นที่ชลประทานอยู่ในเขตอำเภอศรีนครินทร์ และอำเภอเมืองพัทลุง ปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม โดยมีระยะเวลาศึกษา 360 วัน เริ่มตั้งแต่ 18 เมษายน 2562 จนถึง 11 เมษายน 2563 ขณะนี้ได้ทำการตรวจเยี่ยมพื้นที่โครงการและอยู่ระหว่างขออนุญาตเข้าสำรวจในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ

“การพัฒนาโครงการฯ นอกจากจะช่วยบรรเทาปัญหาอุทกภัยในฤดูน้ำหลากแล้ว ยังเป็นแหล่งน้ำต้นทุนที่มีปริมาณน้ำมั่นคง ลดความเสี่ยงของการขาดแคลนน้ำช่วงฤดูแล้ง มีน้ำเพียงพอต่อการอุปโภคบริโภค และการเกษตร อีกทั้ง ยังจะช่วยยกฐานะความเป็นอยู่และคุณภาพชีวิตของราษฎรที่อยู่ในพื้นที่โครงการฯและบริเวณใกล้เคียงให้สูงขึ้น จากผลิตผลทางเกษตรที่จะได้ผลและมีคุณภาพที่ดีขึ้น” รองอธิบดี กล่าว

โครงการศึกษาอ่างเก็บน้ำคลองใหญ่ ตำบลบ้านนา อำเภอศรีนครินทร์ จังหวัดพัทลุง คาดใช้เวลาในการจัดทำโครงการทั้งสิ้น 360 วัน โดยเริ่มปฏิบัติงานตั้งแต่วันที่ 18 เมษายน 2562- 11 เมษายน 2563ทั้งนี้การจัดทำโครงการการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมนั้นเป็นไปเนื่องจากที่ตั้งหัวงานอ่างเก็บน้ำอยู่ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาบรรทัดซ้อนทับเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าเทือกเขาบรรทัด แปลงที่ 1 ตอนที่ 1 รวมกว่า 500 ไร่
ทำให้จำเป็นอย่างยิ่งในการศึกษาจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมเพื่อนำเข้าสู่วาระการพิจารณาของคณะกรรมการผู้ชำนาญการการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมด้านพัฒนาแหล่งน้ำ (คชก.) ให้พิจารณาความเห็นชอบต่อรายงาน และใช้ประกอบการพิจารณาอนุญาตเพิกถอนพื้นที่ของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช รวมถึงขออนุญาตใช้พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ของกรมป่าไม้

ทั้งนี้ในรายละเอียดของการศึกษาความเหมาะสมของโครงการนั้น เอกสารการศึกษาเปิดเผยว่า แบ่งได้เป็น

1.การวางแผนการศึกษา ทั้งการศึกษาข้อมูลเบื้องต้นจากข้อกำหนดต่างๆ ของหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง เช่น มติคณะรัฐมนตรีเกี่ยวกับพื้นที่ชุ่มน้ำ และมาตรการอนุรักษ์พื้นที่ชุ่มน้ำ เป็นต้น

2.การรวบรวมข้อมูล จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่อยู่ในพื้นที่เดียวกันหรือพื้นที่ใกล้เคียงเพื่อนำส่วนที่สามารถใช้ประโยชน์ในการศึกษาได้มาประมวลผลและวิเคราะห์ร่วมกัน

3.การวิเคราะห์ข้อมูล ทั้งในอดีต ปัจจุบัน แนวโน้มหรือคาดการณ์ในอนาคตกรณีที่ไม่มีโครงการเกิดขึ้นเพื่อใช้เป็นข้อมูลเปรียบเทียบในการประเมินผลกระทบที่คาดว่าจะเกิดขึ้นต่อไป

4.การประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม เพื่อเชื่อมโยงรายละเอียดของโครงการหรือกิจกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเปรียบเทียบในกรณีที่ไม่มีโครงการและกรณีที่มีโครงการโดยจะแสดงให้เห็นถึงระดับความรุนแรงของผลกระทบในเชิงปริมาณทั้งด้านบวกและด้านลบ

5.การเสนอแนะมาตรการป้องกันแก้ไขและลดผลกระทบสิ่งแวดล้อม รวมถึงแผนการติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อมพร้อมทั้งการเสนอแผนปฏิบัติการป้องกันแก้ไขและติดตามผลกระทบสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะมีการป้องกันผลกระทบตั้งแต่ระยะเริ่มต้นของโครงการ

ส่วนข้อมูลพื้นฐานของอ่างเก็บน้ำคลองใหญ่นั้น จากผลการศึกษาเบื้องต้นในปี 2549 พบว่าลักษณะและพื้นที่ที่เหมาะสมกับโครงการดังกล่าวอยู่ที่บริเวณเขตตำบลบ้านนา อำเภอศรีนครินทร์ จังหวัดพัทลุงเป็นเขื่อนดินแบบแบ่งโซน ความกว้างสันเขื่อน 8 เมตร ความยาวสันเขื่อน 800 เมตร ความสูง 40.5 เมตร และเมื่อจัดทำแล้วเสร็จจะสามารถกักเก็บน้ำได้ 14.99 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) มีพื้นที่ผิวน้ำที่ระดับเก็บกักน้ำสูงสุด 660 ไร่ ในส่วนของอาคารระบายน้ำล้นสำหรับใช้งานหรือ Service Spillwayจะสามารถระบายน้ำได้สูงสุด 200 ลบ.ม./วินาทีมีความยาวสันฝาย 60 เมตร และความกว้างรางระบายน้ำ 15 เมตร

อนึ่ง การศึกษาความเหมาะสมโครงการสร้างอ่างเก็บน้ำคลองใหญ่ จังหวัดพัทลุง เป็นไปเพื่อบรรเทาสถานการณ์อุทกภัยของจังหวัดพัทลุงจากปัญหาน้ำท่วมซ้ำซากในพื้นที่ชุมชนและพื้นที่เกษตรกรรมซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายต่อทรัพย์สินของประชาชนและ สิ่งสาธารณประโยชน์ต่างๆ เช่น การเกิดอุทกภัยในปี 2544 ในลุ่มน้ำนาท่อม ซึ่งเป็นพื้นที่ต้นน้ำ เกิดเหตุน้ำหลากผ่านเขตเทศบาลเมือง และในปี พ.ศ. 2545 เกิดอุทกภัยในลุ่มน้ำท่าเชียด ซึ่งไหลผ่านโครงการชลประทานท่าเชียด ทำให้เกิดความเสียหายต่อทรัพย์สิน สาธารณูปโภค และพื้นที่เกษตรกรรม
จากการศึกษาความเหมาะสมและผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้นของโครงการอ่างเก็บน้ำคลองใหญ่ จังหวัดพัทลุง ที่แล้วเสร็จเมื่อปี พ.ศ. 2549พบว่า “โครงการอ่างเก็บน้ำคลองใหญ่” เป็นโครงการพัฒนาแหล่งน้ำประเภทอ่างเก็บน้ำที่มีความสำคัญลำดับที่ 1 ซึ่งนอกจากจะบรรเทาปัญหาด้านอุทกภัยได้แล้ว ยังสามารถเป็นแหล่งน้ำต้นทุนเพื่อการเกษตรให้แก่ประชาชนในจังหวัดพัทลุง ที่มีอาชีพเกษตรกรทั้งยางพารา และข้าว