-การศึกษาชุมชน-สังคม

เทคนิคยโสธรคว้าแชมป์ช่างเชื่อมในการแข่งขันทักษะฝีมือแรงงานประเทศไทย ครั้งที่ 7

            ดร.สาโรจน์  ขอจ่วนเตี๋ยว ที่ปรึกษาด้านมาตรฐานอาชีวศึกษาช่างอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา มีการจัดการศึกษาสาขาวิชาช่างเชื่อมโลหะ กระจายครอบคลุมอยู่ทั่วประเทศ แต่ยังไม่สามารถรองรับความต้องการกำลังคนด้านช่างเชื่อมโลหะ ทั้งนี้เนื่องมาจากหลายปัจจัย    เช่นค่านิยม และทัศนคติ ทั้งที่ช่างเชื่อมโลหะเป็นอาชีพที่มีรายได้ค่อนข้างสูง เมื่อเปรียบเทียบกับช่างสาขาอื่นๆ และมีโอกาสในการศึกษาต่อยอด และมีเส้นทางอาชีพ  เช่นเดียวกับการเรียนในสาขาวิชาชีพอื่น อีกทั้งแนวโน้มความต้องการในระดับฝีมือเพิ่มขึ้นทุกปีในภาคอุตสาหกรรม และการก่อสร้าง เพื่อเป็นการส่งเสริมและพัฒนาบุคลากรสาขาช่างเชื่อมของประเทศไทยที่อยู่ในสาขาวิชาชีพช่างเชื่อมเข้าสู่มาตรฐานสากล และเป็นเวทีส่งเสริมสนับสนุนเยาวชนช่างเชื่อมรุ่นใหม่ โดยเฉพาะนักศึกษาอาชีวศึกษาได้เตรียมความพร้อมเข้าสู่ภาคอุตสาหกรรมอย่างมีคุณภาพ

            สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) จึงร่วมกับกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน บริษัทยู.บี.เอ็ม.เอเชีย  (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท อาร์ พี เอส ซัพพลาย จำกัด บริษัท คาวาซากิ มอเตอร์ เอ็นเตอร์ไพรส์ (ประเทศไทย) จำกัด และสมาคมครูและผู้ประกอบการวิชาชีพช่างเชื่อม  จัดแข่งขันทักษะฝีมือแรงงานช่างเชื่อมประเทศไทย ครั้งที่ 7  ระหว่างวันที่  7-11 มิถุนายน 2562  ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา กรุงเทพ ภายในงานอินเตอร์แมค 2019 (Inter mach 2019)

            ดร.สาโรช กล่าวอีกว่า การแข่งขันทักษะฝีมือแรงงานช่างเชื่อมประเทศไทย ครั้งที่ 7 แบ่งการแข่งขันออกเป็น 3 ประเภท คือ ได้แก่ 1.การแข่งขันทักษะฝีมือช่างเชื่อม (Welding skill competition)  ซึ่งเป็นการแข่งขันแบบรายบุคคล ทั้งในระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) และประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) มีผู้เข้าร่วมการแข่งขันทั้งหมด 40 คน จาก 20 สถานศึกษา

            ผลรางวัลชนะเลิศ ได้แก่ นายทวีโชค สูงสนิท นักศึกษา ปวส.2 วิทยาลัยเทคนิคเทคนิคยโสธร   รางวัล รองชนะเลิศอันดับ 1 ได้แก่ นายศาตราวุช ใจมั่น นักศึกษา ปวส.1 วิทยาลัยเทคนิคสิชล จังหวัดนครศรีธรรมราช และ รองชนะเลิศอันดับ 2 ได้แก่ นายศตวรรษ วิชรศศิมณฑล  วิทยาลัยเทคนิคตาก          

            2.การแข่งขันทักษะฝีมือช่างควบคุมหุ่นยนต์เชื่อม (Robot Welding Competition) เป็นการแข่งขันประเภททีม ทีมละ 2 คน ในระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง(ปวส.)โดยมีทีมเข้าแข่งขันทั้งหมด 34 คน จาก 17 สถานศึกษา โดยเป็นทีมจากสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 1 สมุทรปราการ และสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 9 พิษณุโลก ร่วมด้วย ซึ่งรางวัลชนะเลิศ ได้แก่ นายณภัทร โท้ทอง และนางสาวสุพิชชา พรมหมื่นไวย์ ทีมจากสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 1 สมุทรปราการ  รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ได้แก่นายณัฐวุฒิ เสียงประเสริฐ์ และนายศุภวิชญ์ นวลภูมิ นักศึกษา ปวส.2 ทีมจากวิทยาลัยเทคนิคระยอง  และรองชนะเลิศอันดับ 2 ได้แก่ นายวิวรรธน์ วงศ์จันทร์ และนายดิสดนัย ธนะสุข ทีมจากสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 9 พิษณุโลก

            ทั้ง 2 ประเภทการแข่งขัน ผู้ชนะการแข่งขันจะได้รับเกียรติบัตร และเงินรางวัลชนะเลิศ  จำนวน 30,000 บาท รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 จำนวน 20,000 บาท และรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2  จำนวน 10,000 บาท ตามลำดับ โดยทีมนักศึกษาที่ชนะเลิศการแข่งขันประเภททักษะฝีมือช่างควบคุมหุ่นยนต์เชื่อม (Robot Welding Competition) จะได้เดินไปศึกษาดูงาน ณ ประเทศญี่ปุ่น และครูผู้ควบคุม ทีมชนะเลิศ ทั้ง 2 ประเภท จะได้ไปศึกษาดูงานที่สาธารณรัฐประชาชนจีน

            นอกจากนี้ ภายในงานได้จัดให้มีการแข่งขัน ประเภทที่ 3 คือการเชื่อมแบบเสมือนจริง (welding Simulator) แข่งขัน โดยใช้เครื่องเชื่อมแบบเสมือนจริง ซึ่งเป็นเทคโนโลยีการฝึกเชื่อมสมัยใหม่ ที่ประหยัดค่าใช้จ่าย ไม่มีมลพิษ โดยผู้ชนะเลิศ ได้แก่ นายชนาธิป ร่ำร้อง นักศึกษา ปวช.2 วิทยาลัยเทคนิคสัตหีบ จังหวัดชลบุรี รองชนะเลิศอันดับ 1. ได้แก่ นายนภัทรชัย อนุกูล นักศึกษา ปวส. 2 วิทยาลัยเทคนิคระยอง และรองชนะเลิศอันดับ 2 ได้แก่ นายณัฐนนท์ ท้าวชัย นักศึกษา ปวช.3 วิทยาลัยเทคนิคตาก ได้รับรางวัลชุดอุปกรณ์และเครื่องมือช่างเพื่อใช้ในงานเชื่อม มูลค่าเครื่องละ 15,000 บาท  10,000 บาท และ 5,000 บาท ตามลำดับ