วันศุกร์, กันยายน 13, 2024
Latest:
-รอบกรุงอุบัติเหตุทางถนน

ศปถ.คุมเข้มดูแลความปลอดภัยการเดินทางกลับกรุง กวดขันขับรถเร็ว ดื่มแล้วขับ ไม่ใช้อุปกรณ์นิรภัย

ที่กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย วันที่ 16 เม.ย.64 เวลา 10.30 น. ศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ.2564 สรุปสถิติอุบัติเหตุทางถนนประจำวันที่ 15 เมษายน 2564 เกิดอุบัติเหตุ 313 ครั้ง ผู้เสียชีวิต 29 ราย ผู้บาดเจ็บ 310 คน สรุปอุบัติเหตุทางถนนสะสมในช่วง 6 วันของการรณรงค์ (10 – 15 เม.ย. 64) เกิดอุบัติเหตุรวม 2,113 ครั้ง ผู้เสียชีวิตรวม 238 ราย ผู้บาดเจ็บ รวม 2,116 คน จังหวัดที่ไม่มีผู้เสียชีวิต (ตายเป็นศูนย์) มี 8 จังหวัด ประสานจังหวัดเพิ่มความเข้มข้นดูแลเส้นทางขากลับกรุงเทพฯ และเส้นทางที่มุ่งสู่จังหวัดใหญ่ เน้นการจัดตั้งจุดตรวจในเส้นทางเสี่ยงอุบัติเหตุ โดยเฉพาะเส้นทางตรงที่มีระยะทางไกล และจุดที่เกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง กวดขันพฤติกรรมเสี่ยงขับรถเร็ว ดื่มแล้วขับ และไม่ใช้อุปกรณ์นิรภัย รวมถึงประเมินความพร้อมของผู้ขับรถ อีกทั้งจัดเจ้าหน้าที่อำนวยความสะดวก และจัดระบบการจราจรให้สอดคล้องกับปริมาณรถในแต่ละเส้นทาง

นายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ รองปลัดกระทรวงมหาดไทย ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนตลอดทั้งปี เปิดเผยว่า ศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ. 2564 โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยและความร่วมมือของหน่วยงานภาคีเครือข่ายได้รวบรวมสถิติอุบัติเหตุทางถนนประจำวันที่ 15 เมษายน 2564 ซึ่งเป็นวันที่หกของการรณรงค์ “สงกรานต์สุขใจ ขับขี่ปลอดภัย ห่างไกลโควิด” เกิดอุบัติเหตุ 313 ครั้ง ผู้เสียชีวิต 29 ราย ผู้บาดเจ็บ 310 คน

สาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ดื่มแล้วขับ ร้อยละ 31.31 ขับรถเร็ว ร้อยละ 30.35 ยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ รถจักรยานยนต์ ร้อยละ 88.79 ส่วนใหญ่เกิดบนเส้นทางตรง ร้อยละ 61.66 ถนนใน อบต./หมู่บ้าน ร้อยละ 43.13 ถนนกรมทางหลวง ร้อยละ 30.67 ช่วงเวลาที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ช่วงเวลา 16.01 – 20.00 น. ร้อยละ 25.56 ผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตสูงสุด อยู่ในช่วงอายุ 40 – 49 ปี ร้อยละ 15.63 ทั้งนี้ ได้จัดตั้งจุดตรวจหลัก 1,905 จุด เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน 59,218 คน เรียกตรวจยานพาหนะ 377,754 คัน มีผู้ถูกดำเนินคดี รวม 231,838 ราย มีความผิดฐานไม่มีใบขับขี่ 17,318 ราย ไม่สวมหมวกนิรภัย 16,505 ราย

จังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ นครศรีธรรมราช (15 ครั้ง) จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสูงสุด ได้แก่ กาญจนบุรี เชียงใหม่ นครราชสีมา ระยอง หนองคาย (จังหวัดละ 2 ราย) จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสูงสุด ได้แก่ ปราจีนบุรี (15 คน) สรุปอุบัติเหตุทางถนนสะสมในช่วง 6 วันของการรณรงค์ (10 – 15 เม.ย. 64) เกิดอุบัติเหตุรวม 2,113 ครั้ง ผู้เสียชีวิตรวม 238 ราย ผู้บาดเจ็บ รวม 2,116 คน จังหวัดที่ไม่มีผู้เสียชีวิต (ตายเป็นศูนย์)
มี 8 จังหวัด จังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสะสมสูงสุดได้แก่ นครศรีธรรมราช (91 ครั้ง) จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสะสมสูงสุด เชียงใหม่ (9 ราย) จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสะสมสูงสุด ได้แก่ นครศรีธรรมราช (96 คน)

นายบุญธรรม เลิศสุขีเกษม อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ในฐานะเลขานุการศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน (ปภ.) เปิดเผยว่า ในวันนี้ประชาชนยังอยู่ระหว่างเดินทางกลับจากภูมิลำเนา ทำให้ถนนหลายสายมีปริมาณรถเป็นจำนวนมาก ประกอบกับความอ่อนล้าจากการขับรถทางไกล อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุทางถนน ศปถ.จึงได้ประสานจังหวัดปรับแผนการดำเนินงานสร้างความปลอดภัยทางถนนให้สอดคล้องกับสถานการณ์ โดยเพิ่มความเข้มข้นในการดูแลเส้นทางขาเข้ากรุงเทพฯ และเส้นทางที่มุ่งสู่จังหวัดใหญ่ เน้นการจัดตั้งจุดตรวจและเพิ่มความถี่เรียกตรวจในเส้นทางเสี่ยง โดยเฉพาะทางตรงที่มีระยะทางไกล และจุดเสี่ยงเกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง เพื่อกวดขันพฤติกรรมเสี่ยงขับรถเร็ว ดื่มแล้ว ไม่ใช้อุปกรณ์นิรภัย และประเมินความพร้อมของผู้ขับรถ พร้อมจัดเจ้าหน้าที่อำนวยความสะดวก และจัดระบบการจราจรให้สอดคล้องกับปริมาณรถในแต่ละเส้นทาง ท้ายนี้ ระยะนี้หลายพื้นที่ยังคงมีพายุฝนฟ้าคะนอง จึงขอฝากเตือนให้ผู้ขับขี่เพิ่มความระมัดระวังในการใช้รถใช้ถนน ไม่ขับรถเร็ว ดื่มไม่ขับ ง่วงไม่ขับ ใช้อุปกรณ์นิรภัยทั้งผู้ขับขี่และผู้โดยสาร อีกทั้งปฏิบัติตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด – 19 (DMHTT) โดยเฉพาะการสวมหน้ากากอนามัย เว้นระยะห่าง และหมั่นล้างมือ เพื่อสร้างความปลอดภัยแก่ตนเองและสังคม.