SACICT เดินหน้าพัฒนาชุมชนหัตถกรรมหนองบัวแดง
ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชน) หรือ SACICT เดินหน้าสานต่อการพัฒนาชุมชนหัตถกรรม เพื่อพัฒนาและยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้านและชุมชนหัตถกรรม สอดรับกับยุทธศาสตร์ชาติในการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากให้เติบโตอย่างมั่นคง เข้มแข็งและยั่งยืน
โครงการชุมชนเรียนรู้หัตถกรรม (Craft Communities) ที่ SACICT จัดขึ้นเพื่อพัฒนาศูนย์เรียนรู้งานหัตถกรรมเดิมที่มีครูศิลป์ของแผ่นดิน ครูช่างศิลปหัตถกรรม และทายาทช่างศิลปหัตถกรรม และพื้นที่ข้างเคียงที่มีศักยภาพ มุ่งพัฒนาเป็นชุมชนเรียนรู้หัตถกรรม โดย SACICT ได้เข้าไปสนับสนุนให้เกิดการถ่ายทอดความรู้ แหล่งท่องเที่ยวชุมชนหัตถกรรม และกิจกรรมที่เกิดประโยชน์ต่อชาวบ้านและชุมชน รวมไปถึงการบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐอื่นๆ ในท้องถิ่น อาทิ ผู้ว่าราชการจังหวัดชัยภูมิ พาณิชย์จังหวัดชัยภูมิ พัฒนาชุมชนจังหวัด-อำเภอ เทศบาลตำบลหนองบัวแดง และนายอำเภอหนองบัวแดง เป็นต้น
สำหรับการลงพื้นที่พัฒนาชุมชนเรียนรู้หัตถกรรม กลุ่มทอผ้าย้อมสีธรรมชาติหนองบัวแดง จังหวัดชัยภูมิ เมื่อวันที่ 25 เม.ย.ที่ผ่านมา เป็น 1 ใน 10 ของชุมชนเป้าหมายของ SACICT โดยเป็นชุมชนที่มีความเข้มแข็งทั้งในด้านการบริหารจัดการ การรวมกลุ่มของชาวบ้าน ผู้นำชุมชนที่มีความเข้มแข็ง มีองค์ความรู้ในการทอและย้อมสีผ้า มีวัตถุดิบหลักในการผลิตที่สามารถหาได้ในท้องถิ่น โดยกิจกรรมในวันนี้ เป็น “การแลกเปลี่ยนองค์ความรู้เทคนิคการย้อมผ้าสีธรรมชาติ” โดยความร่วมมือระหว่าง SACICT เทศบาลตำบลหนองบัวแดง และหน่วยงานราชการในพื้นที่ฝึกอบรมให้รู้จักวัสดุให้สีจากธรรมชาติ และเตรียมสีสำหรับการย้อม อาทิ ครั่งให้สีแดง เปลือกต้นเขให้สีเหลือง และใบเหมือดให้สีเหลืองอ่อน โดยแบ่งกิจกรรมสร้างการเรียนรู้ออกเป็น 2 ฐาน คือ ฐานย้อมไหม และฐานย้อมฝ้าย โดยเน้นเทคนิคการย้อมจากวัสดุให้สีธรรมชาติในพื้นถิ่น การใช้สารกระตุ้นช่วยติดสี ให้สีติดสวย สม่ำเสมอ รวมทั้งการตรวจสอบคุณภาพและข้อพึงระวังต่าง ๆ ที่ทำให้ได้ผ้าที่ผ่านการย้อมที่สวยงามเป็นที่ต้องการของตลาด
SACICT เชื่อมั่นว่าการจัดกิจกรรมครั้งนี้จะช่วยเพิ่มพูนองค์ความรู้ สร้างประโยชน์ให้ชาวบ้านชุมชนหนองบัวแดงและชุมชนใกล้เคียง เกิดทักษะและเพิ่มขีดความสามารถในการย้อมที่ให้สีด้วยวัสดุธรรมชาติเกิดการต่อยอดเป็นงานหัตถกรรมที่มีความเป็นเอกลักษณ์ สามารถนำมาจำหน่าย สร้างอาชีพและรายได้ให้แก่ชุมชน ท้องถิ่นได้อย่างยั่งยืน