วันอาทิตย์, พฤษภาคม 5, 2024
Latest:
-knowledgeสาธารณสุข

กรมควบคุมโรค เตือนประชาชนระวังภัยสุขภาพที่มากับน้ำท่วม ทั้งจมน้ำ สัตว์มีพิษกัดต่อย ไฟฟ้าช็อต และโรคอุจจาระร่วง

กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ห่วงประชาชนที่อยู่ในพื้นที่น้ำท่วม เนื่องจากขณะนี้มีฝนตกหนักอย่างต่อเนื่องในหลายพื้นที่ ส่งผลให้บางพื้นที่มีน้ำท่วมสูง หรือน้ำท่วมฉับพลัน จึงขอให้ประชาชนระมัดระวังภัยสุขภาพที่อาจทำให้เกิดอันตรายและได้รับบาดเจ็บ โดยกองป้องกันการบาดเจ็บ/สำนักสื่อสารความเสี่ยงฯ กรมควบคุมโรคระบุ สถานการณ์น้ำท่วมในปี 2564 ที่ผ่านมา (23 กันยายน-18 พฤศจิกายน 2564) พบว่ามีผู้เสียชีวิต 100 ราย มีสาเหตุจากการจมน้ำ/ถูกน้ำพัดมากที่สุด 82 ราย รองลงมาคือ ไฟฟ้าช็อต 5 ราย การจมน้ำ พบในเพศชายถึงร้อยละ 74 กลุ่มอายุ 60 ปีขึ้นไป จมน้ำมากที่สุด ร้อยละ 34.1

สาเหตุหลักที่พบในกลุ่มผู้ใหญ่ คือ พลัดตก ลื่น เรือล่ม/พลัดตกเรือ ออกหาปลา ส่วนในกลุ่มเด็ก คือ การเล่นน้ำในพื้นที่น้ำท่วม (เล่นกันเองเป็นกลุ่ม) รองลงมาคือ เดินลุยน้ำและถูกน้ำพัด และพลัดตก ลื่น ทั้งนี้พบว่ามีการดื่มแอลกอฮอล์ร่วมด้วย ถึงร้อยละ 13.4 ส่วนไฟฟ้าช็อตทั้ง 5 ราย เป็นเด็กอายุ 15 ปี ถึง 2 ราย สาเหตุ เกิดจากเข้าไปตัดไฟในบ้าน น้ำท่วมขังบ้านพัก ขับรถไถ ส่วนข้อมูลจากระบบเฝ้าระวังการบาดเจ็บระดับชาติ ของกระทรวงสาธารณสุขในโรงพยาบาลขนาดใหญ่ ช่วงปี 2561-2564 (ข้อมูลทั้งปี) พบว่า มีผู้เสียชีวิตจากการถูกไฟฟ้าดูด ไฟฟ้าช็อต เฉลี่ยถึงปีละ 74 ราย ในช่วงเดือนพฤษภาคม – ตุลาคม (ช่วงฤดูฝน) เกิดเหตุมากที่สุด

คำแนะนำสำหรับการป้องกันภัยสุขภาพที่มากับน้ำท่วม ดังนี้

1) การป้องกันการจมน้ำ ห้ามขับรถหรือเดินลุยน้ำท่วมที่ไหลเชี่ยว ซึ่งระดับน้ำสูงเพียง 6 นิ้ว สามารถทำให้เสียหลักล้มได้ ให้สวมเสื้อชูชีพ หรือนำอุปกรณ์ที่ลอยน้ำได้ติดตัวไปด้วย เช่น ถังแกลลอนพลาสติกเปล่าปิดฝาขนาด 5 ลิตร ผูกเชือกสะพายแล่งที่ข้างลำตัว และติดตามข้อมูลข่าวสารสภาพอากาศตลอดเวลาจากช่องทางต่างๆ

2) การป้องกันสัตว์มีพิษกัดต่อย เช่น งู ตะขาบ แมงป่อง ที่อาจหนีน้ำมาหลบซ่อนอาศัยอยู่ตามบ้านและมุมมืดต่างๆ คือ สอดส่องและสังเกตมุมอับของบ้านเป็นประจำ สำรวจเสื้อผ้าและรองเท้าก่อนสวมใส่ทุกครั้ง หากจำเป็นต้องเดินลุยน้ำ ควรแต่งตัวให้มิดชิด และสวมรองเท้าบูททุกครั้ง ป้องกันสัตว์มีพิษที่อยู่น้ำกัดต่อย

3) การป้องกันไฟฟ้าซ็อต ให้สับคัตเอาต์ตัดกระแสไฟ พร้อมย้ายอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้า ปลั๊กไฟขึ้นที่สูง ไม่ใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าขณะตัวเปียกชื้น หรือกำลังยืนอยู่บนพื้นที่เปียก ตรวจสอบเครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้านเป็นประจำ ห้ามใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าที่โดนน้ำท่วม และหลีกเลี่ยงการเดินลุยน้ำเข้าใกล้ปลั๊กไฟ สายไฟหรือเสาไฟฟ้า หากเกิดไฟฟ้ารั่ว จะมีกระแสไฟฟ้ากระจายเป็นวงกว้างไม่ต่ำกว่า 3 เมตร

🔌 หากเจอคนถูกไฟฟ้าดูดให้ปฏิบัติ ดังนี้ ตัดกระแสไฟในที่เกิดเหตุทันที ห้ามสัมผัสตัวผู้ที่ถูกไฟฟ้าดูดด้วยมือเปล่า ให้ใช้ถุงมือยาง ผ้าแห้ง หรือพลาสติกแห้ง เพื่อเคลื่อนย้ายผู้ประสบเหตุออกจากพื้นที่ หากผู้ประสบภัยหมดสติ ควรทำการช่วยฟื้นคืนชีพ (CPR) ในบริเวณพื้นที่แห้ง และโทรแจ้ง 1669 ทีมแพทย์ฉุกเฉินทันที

นอกจากนี้ กองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค เตือนภัยโรคที่มากับน้ำท่วม โดยเฉพาะ “โรคอุจจาระร่วง” ขอให้ยึดหลัก “สุก ร้อน สะอาด” โดยโรคอุจจาระร่วงตั้งแต่ 1 ม.ค. – 13 ก.ย. 2565 ผู้ป่วย 410,699 ราย เสียชีวิต 2 ราย กลุ่มที่พบอัตราป่วยมากที่สุด คือ เด็กแรกเกิด – 4 ปี ภาคที่มีอัตราป่วยสูงสุด คือ ภาคกลาง

ทั้งนี้ โรคอุจจาระร่วง เป็นภาวะที่มีการถ่ายอุจาระเหลว หรือถ่ายเป็นน้ำ มีมูกเลือดปน อาจมีอาการปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน ไข้ ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย โดน “อุจจาระร่วง” แบ่งได้เป็น 2 ชนิด คือ อุจจาระร่วงชนิดเฉียบพลัน และอุจารระร่วงเรื้อรัง อาการที่พบได้มีดังนี้ ถ่ายอุจจาระเหลวตั้งแต่ 3 ครั้งขึ้นไป หรือถ่ายเป็นน้ำ ถ่ายมีมูกเลือดอย่างน้อย 1 ครั้ง นอกจากนี้อาจขึ้นอยู่กับหลายๆ สาเหตุ เช่น การติดเชื้อแบคทีเรีย ไวรัส หรือพยาธิ โดยผ่านการรับประทานอาหารและน้ำที่ปนเปื้อนเข้าไปในร่างกาย

ดังนั้น “ช่วงที่น้ำท่วม ขอให้ประชาชนยึดหลัก “สุก ร้อน สะอาด” เพิ่มความระมัดระวังด้วยการรับประทานอาหารที่ปรุงสุก ใหม่ ร้อนๆ ไม่รับประทานอาหารดิบ หรือสุกๆ ดิบๆ

🍛อาหารที่เก็บไวนานเกิน 2 ชั่วโมง ต้องนำมาอุ่นร้อนให้ทั่วถึงก่อนรับประทานทุกครั้ง เลือกบริโภคอาหารสะอาด น้ำดื่มและน้ำแข็งที่สะอาด มีเครื่องหมาย อย. ล้างมือด้วยสบู่และน้ำให้สะอาดทุกครั้งก่อนรับประทานอาหาร หลัง-เข้าห้องน้ำหรือสัมผัสสิ่งสกปรก

🪰นอกจากนี้ให้หลีกเลี่ยงอาหารที่มีแมลงวันตอม หากพบผู้ป่วยให้ผู้ป่วยดื่มสารละลายผงน้ำตาลเกลือแร่ หรือผงโออาร์เอส (ORS) ผสมน้ำสะอาดตามสัดส่วนที่ระบุข้างซอง ดื่มแทนน้ำบ่อยๆ หรือหากไม่มีอาจเตรียมเองได้โดยใช้น้ำตาลทราย 2 ช้อนโต๊ะ กับเกลือป่นครึ่งช้อนชา ละลายในน้ำต้มสุกที่เย็นแล้ว 1 ขวดกลม หรือน้ำสะอาด 750 ซีซี ควรดื่มให้หมดภายใน 1 วัน หากไม่หมดให้เททิ้งผสมใหม่ ❌ ไม่ควรกินยาเพื่อให้หยุดถ่าย เนื่องจากจะทำให้เชื้อโรคคั่งค้างอยู่ในร่างกาย เป็นอันตราย แต่หากยังไม่ดีขึ้น ควรรีบไปสถานพยาบาลใกล้บ้าน

🤢ผู้ป่วยอุจจาระร่วง ควรงดประกอบอาหารเพื่อป้องกันการแพร่เชื้อไปสู้ผู้อื่น ดื่มน้ำต้มสุก หรือน้ำดื่มบรรจุขวดที่มีเครื่องหมาย อย. และน้ำแข็งสะอาดได้มาตรฐาน GMP แยกประเภทขยะ ทิ้งลงในถังที่มีฝาปิดและกำจัดขยะอย่างถูกวิธีทุกวัน ผัก ผลไม้ต้องล้างผ่านน้ำสะอาดหลายๆ ครั้ง ภาชนะ อุปกรณ์ที่ใช้ในการประกอบอาหารต้องล้างให้สะอาด และเก็บให้พ้นจากพาหะนำโรค เช่น หนู แมลงสาบ แมลงวัน ถ่ายอุจจาระลงในส้วมที่ถูกลักษณะ และไม่ทิ้งขยะลงน้ำ เพื่อลดความสกปรกในน้ำท่วมขัง

🍛สำหรับการบริจาคอาหารในกรณีที่เป็นอาหารบริจาคอย่างข้าวกล่อง ควรปรุงไม่เกิน 2 ชั่วโมง หลีกเลี่ยงเมนูที่บูดเสียง่าย เช่น อาหารที่ปรุงจากกะทิ ควรเป็นอาหารที่สามารถเก็บไว้ได้ 1-2 วัน ทั้งนี้ สอบถามหรือขอรับคำปรึกษาเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422

ข้อมูลจาก : กองป้องกันการบาดเจ็บ/กองระบาดวิทยา/กองโรคติดต่อทั่วไป สำนักสื่อสารความเสี่ยงฯ กรมควบคุมโรค