ก.แรงงาน จับมือ ปปส. รัฐวิสาหกิจ ลงนาม MOU ความร่วมมือป้องกันยาเสพติด
กระทรวงแรงงาน จัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือในการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด ระหว่าง กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ปปส.) และรัฐวิสาหกิจ จำนวน 15 หน่วยงาน ร่วมขับเคลื่อนและเป็นต้นแบบการดำเนินงานด้านการป้องกันยาเสพติด ตั้งเป้าแรงงานห่างไกลยาเสพติด มีคุณภาพชีวิตที่ดี
เมื่อวันี่ 27 ก.พ.2562 พลอากาศเอก ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดแห่งชาติ เป็นประธานเปิดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือในการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด ระหว่าง กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ปปส.) การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย การประปานครหลวง การประปาส่วนภูมิภาค การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค การยางแห่งประเทศไทย การยาสูบแห่งประเทศไทย ธนาคารเพื่อการเกษตร และสหกรณ์การเกษตร ธนาคารออมสิน ธนาคารอาคารสงเคราะห์ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด โรงพิมพ์ตำรวจ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ องค์การสวนพฤกษศาสตร์ และองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ ณ ห้องจอมพล ป. พิบูลสงคราม กระทรวงแรงงาน กรุงเทพมหานคร
พล.อ.อ.ประจิน กล่าวว่า เป็นนโยบายของรัฐบาลพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่จะจัดการกับปัญหายาเสพติดอย่างเป็นรูปธรรม และให้ยาเสพติดหมดสิ้นไปจากประเทศไทยโดยเร็ว ดังนั้น ทุกฝ่ายจึงต้องร่วมมือกัน โดยเริ่มต้นจากการเสริมสร้างการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนให้มีความตระหนักและสร้างจิตสำนึกที่ดีร่วมกันในการรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ และสังคมของประเทศด้วยการป้องกันการแพร่ระบาดของยาเสพติดโดยเฉพาะในกลุ่มผู้ใช้แรงงานในทุกวิถีทาง เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อผู้ใช้แรงงาน ส่งผลต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ สังคม และประเทศชาติให้มีความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน
ด้านพล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวเพิ่มเติมว่า กระทรวงแรงงานมอบหมายให้ กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ดำเนินการรณรงค์ ส่งเสริมให้สถานประกอบกิจการเข้าร่วมโครงการโรงงานสีขาว และมาตรฐานการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดในสถานประกอบกอบกิจการ ซึ่งปัจจุบันมีสถานประกอบกิจการที่ผ่านเกณฑ์โรงงานสีขาว 51,772 แห่ง แรงงานที่เกี่ยวข้อง 4,895,623 คน และผ่านเกณฑ์มาตรฐานการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด 6,646 แห่ง แรงงานที่เกี่ยวข้อง 1,325,395 คน และในวันนี้ได้ขยายความร่วมมือไปสู่หน่วยงานรัฐวิสาหกิจเพื่อร่วมกันขับเคลื่อน และเป็นต้นแบบสำหรับสถานประกอบกิจการ ทั่วประเทศในการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด ซึ่งความร่วมมือในครั้งนี้ส่งผลให้พนักงานรัฐวิสาหกิจ 162,445 คน จาก 15 หน่วยงานที่ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงฯ และครอบครัวมีภูมิคุ้มกันในการป้องกันตนเองให้ห่างไกลยาเสพติด มีคุณภาพชีวิตที่ดี ตลอดจนลดปัญหาการแพร่ระบาดของยาเสพติดในกลุ่มผู้ใช้แรงงาน