-EconomicsLabour

ก.แรงงาน นำคณะไอแอลโอเยี่ยมศูนย์ PIPO สมุทรสาคร ดูงานต้นแบบสถานประกอบการมีมาตรฐานแรงงาน

           ที่ศูนย์ควบคุมการแจ้งเข้า–ออกเรือประมง (PIPO) เขต 1 อำเภอเมืองจังหวัดสมุทรสาคร (23 กรกฎาคม 2562) นายสุรเดช วลีอิทธิกุล รองปลัดกระทรวงแรงงาน นำ นายกาย ไรเดอร์ (Mr.Guy Ryder) ผู้อำนวยการใหญ่องค์การแรงงานระหว่างประเทศ และคณะ เข้าเยี่ยมชมศูนย์ PIPO โดยมี นายพิริยะ ฉันทดิลก รองผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร ผู้แทนกองทัพเรือ ร่วมให้การต้อนรับ โดยได้รับฟังบรรยายสรุปความเป็นมาของศูนย์บัญชาการแก้ไขปัญหาการทำการประมงผิดกฎหมาย (ศปมผ.) และศูนย์ PIPO ภารกิจของศูนย์ การปฏิบัติงานของศูนย์ รวมทั้งรับฟังสถานการณ์ด้านการประมงในจังหวัดสมุทรสาคร สำหรับศูนย์ฯ แห่งนี้มีภารกิจตรวจการแจ้งเข้า – ออกของเรือประมงพาณิชย์ขนาดตั้งแต่ 30 ตันกรอสขึ้นไป และต่ำกว่า 30 ตันกรอสในเครื่องมือ 3 ประเภท คือ อวนลาก อวนล้อมจับ และอวนครอบปลากะตัก โดยเน้นการตรวจเรือกลุ่มเสี่ยงที่ได้รับแจ้งจากศูนย์ ส่วนการปฏิบัติของศูนย์ ได้แก่ การตรวจเอกสารเรือที่มาแจ้งเข้า – ออก ตรวจเรือและคนประจำเรือที่ท่าเทียบเรือ บันทึกข้อมูลลงในระบบ Fishing Information : FI และการอนุญาตให้ออกไปทำการประมง หรือกลับเข้าเทียบท่าและขึ้นสัตว์น้ำ โดยเน้นการตรวจคุ้มครองแรงงาน เพื่อป้องกันการบังคับใช้แรงงานและการค้ามนุษย์ ปัจจุบันมีศูนย์ PIPO ทั่วประเทศจำนวน 30 แห่ง สำหรับสถานการณ์ด้านการทำประมงของจังหวัดสมุทรสาคร พบว่า มีเรือประมงที่แจ้งเข้า – ออก จำนวน 384 ลำ มีลูกเรือประมงจำนวน 5,472 คน โดยทั้งหมดเป็นแรงงานในระบบ ไม่มีแรงงานผิดกฎหมาย ประชาชนมีความเข้าใจในนโยบายการแก้ไขปัญหาของรัฐบาล โดยให้ความร่วมมือเป็นอย่างดีจนทำให้การแก้ไขปัญหาการประมงมีแนวโน้มที่ดีขึ้น

            จากนั้นรองปลัดกระทรวงแรงงาน และคณะของนายกาย ไรเดอร์ ได้ไปตรวจเยี่ยมบริษัท ยูนิคอร์ด จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นสถานประกอบการที่ผลิตและส่งออกสินค้าประเภทบรรจุกระป๋องและแช่แข็ง ปัจจุบันมีลูกจ้าง 8,678 คน เป็นชาย 2,972 คน หญิง 5,706 คน เป็นคนไทย 1,667 คน เมียนมาร์ 7,011 คน ซึ่งสถานประกอบการแห่งนี้ได้รับมาตรฐานการรับรองหลายด้าน ได้แก่ มาตรฐานแรงงานไทย (TLS) ระดับพื้นฐาน ปี 2560 – 2562 มีการนำแนวปฏิบัติการใช้แรงงานที่ดี (GLP) มาใช้ในการบริหารจัดการแรงงานให้เป็นที่ยอมรับ เป็นสถานประกอบการดีเด่นด้านแรงงานสัมพันธ์และสวัสดิการแรงงานระดับประเทศ ปีที่ 4 เป็นต้น

            การลงพื้นที่สมุทรสาคร ของนายกาย ไรเดอร์ในครั้งนี้ เป็นการเยี่ยมชมความก้าวหน้าและผลสัมฤทธิ์ที่เป็นรูปธรรมที่แสดงถึงความมุ่งมั่นของรัฐบาลไทยในการขจัดการใช้แรงานเด็ก แรงงานบังคับในอุตสาหกรรมอาหารทะเลและห่วงโซ่อุปทานในภาคประมง การคุ้มครองแรงงานประมงและแนวปฏิบัติการใช้แรงงานที่ดีซึ่งสามารถสร้างความมั่นใจว่าสินค้า อุตสาหกรรมอาหารทะเลของประเทศไทย ผลิตโดยมีธรรมาภิบาล มีมาตรฐานแรงงานสอดคล้องกับมาตรฐานสากล ซึ่งจะสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจตลอดห่วงโซ่อุปทานได้อย่างยั่งยืน