-รอบกรุง

รู้ยัง! จะร้องเพลงเปิดหมวกแลกเงิน ต้องขออนุญาตรัฐ ทำ ”บัตรปจต.ผู้แสดงความสามารถ“

          นางนภา เศรษฐกร อธิบดีกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ(พส.) กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เปิดเผยถึงกรณี “พบเด็กแฝดเล่นกีต้าร์ ขอค่าเทอม เข้าร้านกาแฟหรู” ว่า กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ ได้มอบหมายเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริง พบว่าเด็กทั้ง 2 คน ได้ไปจดแจ้งและขอมีบัตรประจำตัวผู้แสดงความสามารถ  แต่เนื่องจากการทดสอบครั้งแรกยังไม่ผ่าน ศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งกรุงเทพมหานคร จึงนัดให้ไปทดสอบการแสดงความสามารถใหม่  โดยเด็กทั้งสองมาแสดงความสามารถด้วยความสมัครใจไม่ได้มีการถูกบังคับแต่อย่างใด อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่ได้ให้คำแนะนำเกี่ยวกับขั้นตอนการขอมีบัตรผู้แสดงความสามารถและการแสดงความสามารถในที่สาธารณะ โดยภายหลังหากเด็กได้รับบัตรประจำตัวผู้แสดงความสามารถแล้ว จะต้องไปขออนุญาตท้องที่เพื่อแสดงความสามารถในพื้นที่อย่างถูกต้องต่อไป ซึ่งมารดาเด็กเข้าใจในขั้นตอนและกระบวนการดังกล่าวแล้ว 

                นางนภา กล่าวเพิ่มเติมว่า ผู้แสดงความสามารถที่ทำการแสดงจะต้องมีบัตรประจำตัวผู้แสดงความสามารถ โดยในพื้นที่กรุงเทพมหานคร สามารถยื่นขอมีบัตรประจำตัวผู้แสดงความสามารถได้ที่ศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งกรุงเทพมหานคร สำหรับในส่วนภูมิภาคขอมีบัตรได้ที่สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดทุกจังหวัด

                ทั้งนี้ ผู้แสดงความสามารถจะต้องผ่านการทดสอบความสามารถจากคณะกรรมการ จึงจะได้รับบัตรประจำตัวผู้แสดงความสามารถ และเมื่อจะทำการแสดงความสามารถ ณ พื้นที่ใด ก็จะต้องขออนุญาตจากท้องถิ่นนั้นๆ โดยปัจจุบันมีผู้ที่จดแจ้งเป็นผู้แสดงความสามารถ จำนวนทั้งสิ้น  4,174 คน ซึ่งกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ มุ่งเน้นการพัฒนาศักยภาพผู้แสดงความสามารถให้เป็นมืออาชีพ มีบุคลิกภาพที่ดี สามารถสร้างรายได้เลี้ยงตนเองได้ โดยในปีที่ผ่านมาได้พัฒนาศักยภาพผู้ที่มีบัตรผู้แสดงความสามารถไปแล้ว 339 คน  สำหรับในปีงบประมาณ 2562 นี้ กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ  ได้จัดทำโครงการพัฒนาศักยภาพผู้แสดงความสามารถ (Smart on street )  4 ภาค เพื่อพัฒนาศักยภาพและยกระดับผู้แสดงความสามารถสู่มืออาชีพ นอกจากนี้ ตามแผนขับเคลื่อนการควบคุมการขอทาน ฉบับที่ 1 (พ.ศ. 2562 – 2564) ได้กำหนดเป้าหมายลดจำนวนขอทาน และเน้นการพัฒนาศักยภาพขอทาน รวมทั้งการเสริมสร้างคุณภาพชีวิตด้วยการฝึกทักษะอาชีพ จัดหางาน และส่งเสริมด้านการศึกษา

                นางนภา กล่าวอีกว่า การแก้ไขปัญหาขอทาน จะประสบผลสำเร็จได้นั้นจะต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน โดยเฉพาะอย่างยิ่งประชาชน ซึ่งเป็นผู้หยิบยื่นเงินให้แก่ผู้ทำการขอทาน ถือว่าเป็นผู้ที่มีจิตใจดีเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ แต่ขอให้ท่านโปรดฉุกคิดสักนิดถึงผลกระทบจากการให้ดังกล่าวว่าอาจเป็นการส่งเสริมขบวนการค้ามนุษย์ จึงอยากจะสื่อสารสังคมให้เกิดความเข้าใจถึงเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติควบคุมการขอทาน พ.ศ.2559 กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ จึงได้จัดทำคลิปวิดีโอสั้นเรื่อง “ให้โอกาส เปลี่ยนชีวิต หยุดคิด…ก่อนให้ทาน” เพื่อเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ให้สังคมตระหนักถึงความสำคัญของปัญหาการขอทานในสังคมไทย สร้างความเข้าใจในการให้ทานอย่างถูกวิธี และการส่งเสริมทัศนคติใหม่ในการบริจาคโดยการให้โอกาส การสร้างงานสร้างอาชีพให้กับบุคคลเหล่านั้น ให้สามารถพึ่งตนเองได้  หรืออาจจะบริจาคให้แก่หน่วยงาน องค์กรที่มีบทบาทภารกิจในการพัฒนากลุ่มเป้าหมายโดยตรง เพื่อเป็นการร่วมกัน แก้ไขและป้องกันปัญหาอย่างแท้จริง