เร่ง EIA “อ่างแม่คำ-แม่แสลบ” ช่วยพื้นที่เกษตรแสนไร่
กรมชลประทาน เดินหน้าลุยศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม ดันสร้างอ่างขนาดกลาง 2 แห่งใน อ.แม่จัน ตั้งเป้าแก้ปัญหาน้ำท่วมและภัยแล้ง เพิ่มน้ำเพื่อการเกษตรในพื้นที่10 ตำบล ใน 3 อำเภอ คือ อ.แม่จัน อ.แม่สาย และ อ.เชียงแสน รวมพื้นที่กว่า 103,000 ไร่
นายเฉลิมเกียรติ คงวิเชียรวัฒน์ รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า กรมชลประทาน เป็นหน่วยงานที่มีภารกิจในด้านการจัดหาและพัฒนาแหล่งน้ำ การบริหารจัดการน้ำตลอดจนบรรเทาภัยอันเกิดจากน้ำ เพื่อสร้างประโยชน์สุขแก่ประชาชน นอกจากการดำเนินงานตามภารกิจต่างๆของกรมชลประทานแล้ว ยังมีการศึกษาและติดตามการดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการป้องกันแก้ไขและติดตามผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อม (Environmental Impact Assessment -EIA)ในทุกมิติ ควบคู่กันไปด้วย เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการพัฒนาแหล่งน้ำต้นทุน สร้างความสมดุลและยั่งยืนให้แก่ราษฎรในพื้นที่ดังกล่าว โดยผ่านการจัดการอย่างมีระบบ และรับผิดชอบในทุกขั้นตอน
ในส่วนของการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง 2 แห่ง คืออ่างเก็บน้ำแม่คำ และอ่างเก็บน้ำแม่แสลบ ซึ่งมีความจุรวม 72.14 ล้าน ลบ.ม. ในพื้นที่ จ.เชียงราย นั้น เกิดจากประชาชนใน อ.แม่จัน ได้มีหนังสือถึงหัวหน้าโครงการชลประทานเชียงราย ว่าในเขต อ.แม่จัน ในช่วงฤดูแล้งจะประสบปัญหาการขาดแคลนน้ำสำหรับทำการเกษตรและอุปโภค บริโภค ส่วนในฤดูฝนจะประสบปัญหาน้ำท่วมพื้นที่เพาะปลูกและที่อยู่อาศัย จึงขอให้กรมชลประทาน ทำการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำแม่คำ เพื่อแก้ไขปัญหา
กรมชลประทานได้ให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบสภาพภูมิประเทศร่วมกับชาวบ้านในพื้นที่โครงการ โดยทำการรวบรวมข้อมูลต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง พร้อมศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมแล้วพบว่า ลุ่มน้ำแม่จัน (แม่คำ) เป็นลุ่มน้ำสาขาของลุ่มน้ำโขงภาคเหนือ มีลำน้ำหลักที่สำคัญคือน้ำแม่คำและน้ำแม่จัน ซึ่งพื้นที่ตอนบนเป็นภูเขามีความลาดชันมาก ตอนล่างเป็นพื้นที่ราบเชิงเขาและที่ราบริมฝั่งน้ำ ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่เพาะปลูกและเป็นชุมชน โดยน้ำแม่คำจะไหลมาบรรจบกับแม่จัน ก่อนที่จะไหลลงสู่แม่น้ำโขงและพื้นที่ในลุ่มน้ำแม่คำมีขนาดกว้างใหญ่ ดังนั้นการพัฒนาลุ่มน้ำแม่คำจะมีศักยภาพสูงในการเก็บกักน้ำและบรรเทาปัญหาอุทกภัย
ในเรื่องการชดเชยนั้น โดยประชาชนในพื้นที่โครงการที่ได้รับผลกระทบนั้น นายเฉลิมเกียรติ ยืนยันว่า ไม่ว่าจะเป็นผู้ที่ที่มีเอกสารสิทธิ์ หรือไม่มีเอกสารสิทธิ์ กรมชลประทาน จะชดเชยให้อย่างเหมาะสมแน่นอน
ด้านนายทวีชัย โค้วตระกูล ผู้อำนวยการโครงการชลประทานเชียงราย กล่าวว่า อ่างเก็บน้ำทั้ง 2 แห่ง นับเป็นความต้องการของประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่โครงการเนื่องจากได้รับความเดือดร้อนจากการขาดแคลนน้ำเพื่อทำการเกษตรและอุปโภคบริโภค ทั้ง ๆ ที่ในลำน้ำมีน้ำไหลอยู่ตลอดแต่ไม่มีอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่คอยเก็บกักน้ำไว้ใช้ในช่วงหน้าแล้งทำให้ชาวบ้านไม่สามารถเพาะปลูกได้เต็มที่ชาวบ้านจึงต้องการให้มีการก่อสร้างโครงการอ่างเก็บน้ำขึ้น ซึ่งถ้าหากว่าอ่างเก็บน้ำแม่คำและอ่างเก็บน้ำแม่แสลบก่อสร้างเสร็จจะสามารถช่วยให้ประชาชนในพื้นที่10 ตำบล ใน 3 อำเภอ คือ อ.แม่จัน อ.แม่สาย และ อ.เชียงแสน มีความเป็นอยู่ที่ดี มีน้ำใช้อย่างยั่งยืน มีแหล่งน้ำต้นทุนที่เพียงพอสำหรับทำการเกษตร รวมพื้นที่กว่า 103,000 ไร่
ในส่วนของการพัฒนาแหล่งน้ำในลุ่มน้ำแม่คำนั้น ก่อนหน้านี้ได้มีการก่อสร้างโครงการชลประทานขนาดเล็กกระจายอยู่โดยทั่วไป แต่ยังคงมีปัญหาการขาดแคลนน้ำในช่วงฤดูแล้งอยู่เสมอ เพื่อเป็นการบรรเทาปัญหาต่างๆดังกล่าว กรมชลประทาน โดยสำนักบริหารโครงการจึงได้พิจารณาและดำเนินการศึกษา “รายงานการศึกษาแนวทางพัฒนาลุ่มน้ำ โครงการพัฒนาแหล่งน้ำในลุ่มน้ำแม่จัน (แม่คำ)” เพื่อวางแผนพัฒนาโครงการอ่างเก็บน้ำขนาดกลางในการบรรเทาและแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำและเพื่อให้มีการพัฒนาวางแผนลุ่มน้ำในภาพรวม โดยโครงการอ่างเก็บน้ำแม่คำนั้นเป็นหนึ่งในโครงการที่มีศักยภาพในลุ่มน้ำแม่คำ โดยผลการศึกษาความเหมาะสมเบื้องต้นได้ชี้ว่าโครงการมีความเหมาะสม แต่เนื่องจากโครงการมีศักยภาพที่จะพัฒนาเป็นโครงการขนาดใหญ่ซึ่งเข้าข่ายต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่อาจส่งผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรงทั้งทางด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ ทางกรมชลประทานจึงได้ให้บริษัทที่ปรึกษาดำเนินการศึกษาความเหมาะสมและผลกระทบสิ่งแวดล้อมของทั้ง 2 อ่างเพื่อเป็นแนวทางในการออกแบบรายละเอียดและก่อสร้างต่อไป