-เกษตรD.I.Y

หญ้าหมัก…อาหารสัตว์ ทำได้ทุกฤดูกาล

หญ้า นับเป็นพืชอาหารสัตว์ที่สำคัญ การปลูกพืชอาหารสัตว์ หรือการทำแปลงหญ้านั้นถือเป็นการประกันความมั่นคงด้านอาหารตลอดทั้งปีให้แก่สัตว์ อีกทั้งการปลูกพืชอาหารสัตว์สลับกับการปลูกพืชไร่ ยังเป็นการจัดการระบบทรัพยากรดินที่ดี ช่วยให้ดินได้มีการพักตัวจากการถูกไถพรวนเพื่อปลูกพืชไร่มากเกินไป นอกจากนี้ยังช่วยในการเพิ่มธาตุอาหารไนโตรเจนและอินทรียวัตถุให้แก่ดิน โดยที่มีถั่วอาหารสัตว์เป็นองค์ประกอบเสริมอยู่ในระบบแปลงหญ้า ซึ่งเหมาะสมอย่างยิ่งกับดินในสภาพพื้นที่พรุในจังหวัดนราธิวาส ซึ่งมีลักษณะเป็นกรดจัดมาก (ค่า pH ต่ำกว่า 4.5)โครงสร้างดินแน่นทึบ เนื้อดินเป็นดินเหนียวถึงเหนียวจัด เมื่อดินแห้งจะแข็งและแตกระแหง ทำให้ไถพรวนยาก และมีความขาดแคลนธาตุอาหารฟอสฟอรัสและไนโตรเจน ซึ่งธาตุอาหารไนโตรเจนนี้จะมีอยู่มากในพืชตระกูลถั่วและเป็นที่ทราบกันดีสำหรับเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ ที่มักจะประสบกับปัญหาในช่วงที่ขาดแคลนหญ้าสด ซึ่งในการให้อาหารสัตว์ จำพวก “หญ้าหมัก” จัดเป็นทางเลือกหนึ่งในการใช้เป็นอาหารสัตว์ในช่วงที่ขาดแคลนพืชอาหารสัตว์ เพื่อให้สัตว์เลี้ยงได้บริโภคอาหารที่ดี มีราคาถูก และเป็นการลดต้นทุนในการเลี้ยง ซึ่งสามารถทำได้ทุกฤดูกาล และใช้ทุกส่วนของต้นพืชให้เป็นประโยชน์ อีกทั้งยังสามารถเก็บรักษาได้นานอีกด้วย

“การทำหญ้าหมัก” สามารถทำได้ทุกฤดูกาล เป็นการนำพืชอาหารสัตว์ต่างๆ มาเก็บถนอมไว้ในสภาพอวบ ในภาชนะปิดที่ป้องกันอากาศจากภายนอกจนเกิดการหมัก ซึ่งจะช่วยทำให้คุณค่าทางอาหารของพืชเหล่านั้นคงอยู่เสมอ และสามารถถนอมไว้ใช้ได้ในช่วงที่ขาดแคลนหญ้าสด โดยเฉพาะในช่วงฤดูแล้ง พืชอาหารสัตว์ที่นำมาใช้ในการหมัก ได้มาจากพืชอาหารสัตว์ที่มีอยู่มากมายในช่วงฤดูฝน ซึ่งเจริญงอกงามดี และมีปริมาณมากเกินพอสำหรับเลี้ยงสัตว์

นอกจากนี้ฤดูฝนก็ไม่สามารถเก็บถนอมในการทำหญ้าแห้งได้ ฉะนั้นการทำหญ้าหมักจึงเป็นตัวช่วยเกษตรกรอีกทางหนึ่ง ซึ่งจะทำให้สัตว์เลี้ยงมีอาหารในยามขาดแคลน โดยพืชสดที่ผ่านการหมัก เพื่อรักษาธาตุอาหารในพืชไม่ให้เน่าเปื่อย จะมีลักษณะทำนองเดียวกับผักดองที่มีรสเปรี้ยวเล็กน้อย โดยเกิดจากกระบวนการซึ่งอาศัยเชื้อจุลินทรีย์บางชนิด เช่น บัคเตรีในกลุ่มแล็กโตบะซิลัส บัคเตรีกลุ่มนี้จะย่อยแป้งในต้น ใบ หรือเมล็ดพืช และเปลี่ยนให้เป็นกรด เรียกว่า กรดแล็กติก กรดที่เกิดขึ้นนี้เป็นสารที่ช่วยรักษาเนื้อพืชไม่ให้เน่า การทำหญ้าหมักมีกระบวนการตรงข้ามกับการทำหญ้าแห้ง เพราะการทำหญ้าแห้ง อาศัยกระบวนการไล่ความชื้นออกจากพืช แต่การทำหญ้าหมักต้องการรักษาความชื้นไว้ และการทำหญ้าหมักต่างจากการทำปุ๋ยหมัก ตรงที่การทำปุ๋ยหมักนั้นเชื้อราจุลินทรีย์จะย่อยสลายเนื้อเยื่อของพืชจนเน่าเปื่อย ปลด-ปล่อยแร่ธาตุให้พืชดูดซึมเป็นปุ๋ยได้

โดยลักษณะที่ดีของหญ้าหมัก สีหญ้าหมักที่ดีควรมีสีเขียวแกมเหลือง หรือสีเหลือง ซึ่งถ้าหญ้าหมักเป็นสีดำไม่ควรนำไปใช้เลี้ยงสัตว์ กลิ่นหอมคล้ายผัก ผลไม้ดอง เนื้อหญ้าหมักจะต้องไม่เป็นเมือก ไม่เละ ไม่มีราหรือส่วนเน่าบูด ความชื้นควรมีค่าอยู่ระหว่าง ร้อยละ 65–70 ทดสอบโดยบีบหญ้าหมัก ด้วยมือ ถ้ามีน้ำเหลวๆ ไหลออกมาแสดงว่า มีความชื้นมากเกินไป อาจทำให้หญ้าหมักเสียได้ง่าย สำหรับวิธีการและขั้นตอนการทำหญ้าหมักนั้นสามารถทำได้ไม่ยาก โดยอุปกรณ์ที่ใช้ในการทำหญ้าหมัก ได้แก่ อุปกรณ์สำหรับสับหญ้า ถุงดำหรือถุงพลาสติก หรือเท่าที่มีตามท้องถิ่น เพื่อบรรจุหญ้าสำหรับหมัก สารเสริมที่ทำให้การหมักดีขึ้น เช่น กากน้ำตาล 1 กิโลกรัม เกลือ 500 กรัม เพื่อช่วยเพิ่มคุณภาพของหญ้าหมัก ในส่วนของขั้นตอนการทำหญ้าหมักมีดังนี้ คือสับหญ้าให้ละเอียดความยาวประมาณ 3 เซนติเมตร โรยเกลือหรือใส่กากน้ำตาลคลุกเคล้ากองหญ้าให้ทั่ว อัดพืชหมักลงในภาชนะ ถุงหมัก ถังหมัก หรือบ่อหมักให้แน่น ไล่อากาศออกให้ได้มากที่สุดแล้วปิดภาชนะบรรจุให้สนิท เก็บรักษาหญ้าหมักไว้ในที่เย็นหรือที่ร่ม ประมาณ 3 สัปดาห์ หรือ 21 วัน เกิดการหมักเต็มที่สามารถนำมาเลี้ยงสัตว์ได้

ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองฯ โดยงานปศุสัตว์ ได้ส่งเสริมให้เกษตรกรมีการทำหญ้าหมักเพื่อนำไปใช้เลี้ยงสัตว์ต่างๆ ในช่วงขาดแคลนหญ้าสด โดยเฉพาะหน้าแล้ง โดยได้มีการจัดทำแปลงสาธิตการปลูกหญ้าอาหารสัตว์ และถ่ายทอดความรู้ พร้อมทั้งสนับสนุนท่อนพันธุ์หญ้า จำนวน 2 สายพันธุ์ ได้แก่ พันธุ์หญ้าเนเปียร์ปากช่อง 1 และพันธุ์หญ้าซิกแนลเลื้อย ให้แก่เกษตรกรเพื่อนำไปปลูกในพื้นที่ของตนเอง โดยเฉพาะหญ้าซิกแนลเลื้อย เป็นหญ้าที่สามารถเจริญเติบโตได้ดีในดินแทบทุกชนิด

สำหรับผู้ที่สนใจ เกี่ยวกับ “การทำหญ้าหมัก” สามารถติดต่อขอรับคำแนะนำเพิ่มเติม และเข้าชมได้ที่ งานปศุสัตว์ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองฯ หรือ โทร 073-631033, 073-631038 E-mail: cpt_1@ldd.go.th หรือเข้าดูเพิ่มเติมได้ที่ เว็บไซต์ www.pikunthong.com
แทน รังเสาร์ ข้อมูล
กฤษณี คงสวัสดิ์ เรียบเรียง