-Healthyknowledgeสาธารณสุข

อนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคเห็นชอบเร่งรัดการฉีดวัคซีน HPV เก็บตกนักเรียนป.5 ที่ตกค้าง ให้ครบ 2 เข็ม

ที่กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี (10 กุมภาพันธ์ 2566) นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวภายหลังเป็นประธานการประชุมอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคว่า ที่ประชุม ยังคงแนะนำการให้วัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก (HPV) ในนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 จำนวน 2 เข็ม ตามสิทธิประโยชน์ที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา และตามคำแนะนำทางวิชาการเดิม แม้ว่าในช่วงปี 2562-2564 ได้เกิดการขาดแคลนวัคซีน HPV ทั่วโลก จากปัญหาโรงงานผลิตวัคซีนไม่สามารถผลิตวัคซีน HPV ได้เพียงพอ เนื่องจากวิกฤติการระบาดโควิด-19 ทั่วโลก ส่งผลให้เด็กนักเรียนชั้น ป.5 ปีการศึกษา 2562-2564 จำนวนประมาณ 1.2 ล้านคน เกิดการเสียสิทธิที่พึงได้รับจากรัฐ จากที่ไม่ได้รับวัคซีน HPV ตามแผนงานฯ และมีความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งปากมดลูกในอนาคต

แต่ในปี 2565 บริษัทผู้ผลิตวัคซีนได้มีการจัดส่งวัคซีน HPV จำนวน 8 แสนโดส ซึ่งอยู่ระหว่างการดำเนินการฉีดนักเรียนชั้น ป.5 ปีการศึกษา 2565 และมีการสั่งซื้อวัคซีนHPV จำนวน 8 แสนโดส สำหรับเด็กนักเรียนชั้น ป.5 ปีการศึกษา 2566 เป็นที่เรียบร้อยแล้ว

อย่างไรก็ตาม ในขณะนี้ยังไม่มีวัคซีนเพียงพอสำหรับการเก็บตกนักเรียนชั้น ป.5 ปีการศึกษา 2562-2564 ดังนั้นหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กรมควบคุมโรค สถาบันวัคซีนแห่งชาติ และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) จึงร่วมมือกันผลักดันการจัดหาวัคซีน HPV สำหรับเด็กที่ยังไม่ได้รับวัคซีนในปี 2562-2564 ซึ่งขณะนี้ สปสช. อยู่ระหว่างการวางแผนงบประมาณเพื่อจัดหาวัคซีนจากบริษัทผู้ผลิต ทั้งนี้ยืนยันว่า เด็กไทยชั้น ป.5 ที่ตกค้างตั้งแต่ปี 2562-2564 จะได้รับวัคซีนครบทุกราย ตามความสมัครใจ และจากคําแนะนําของคณะอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคและข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก พบว่า ประสิทธิผลของการป้องกันมะเร็งปากมดลูกยังสูงอยู่ แม้ว่าจะมีการเว้นระยะห่างการฉีดเข็มที่ 2 ออกไปนานกว่าที่กําหนด

นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวเสริมว่า มะเร็งปากมดลูกเป็นโรคที่พบมากในหญิงไทยเป็นอันดับ 2 รองจากมะเร็งเต้านม พบว่าหญิงไทยเป็นมะเร็งปากมดลูกสูงถึงปีละเกือบหมื่นราย และมีอัตราเสียชีวิตเกิน 50% นับว่าเป็นปัญหาทางสาธารณสุขที่สำคัญ การป้องกันด้วยการฉีดวัคซีนป้องกันเชื้อไวรัส HPV ซึ่งเป็นสาเหตุของมะเร็งปากมดลูก จึงเป็นแนวทางการป้องกันโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพที่สุด

หลักการสำคัญ คือ ควรฉีดตั้งแต่ยังไม่เคยมีเพศสัมพันธ์ ดังนั้นเมื่อประเทศไทยยังไม่มีวัคซีนที่เพียงพอสำหรับทุกกลุ่มเป้าหมาย กรมควบคุมโรคจึงจำเป็นต้องมีการวางแผนการบริหารจัดการวัคซีน HPV ให้กลุ่มเป้าหมายได้รับการฉีดวัคซีนเข็มที่ 1 ให้มีความครอบคลุมมากที่สุด โดยจะใช้วิธีฉีดเข็มที่ 1 ปูพรมในการเก็บตกโดยให้เด็กที่อายุสูงที่สุดก่อน เพื่อลดความเสี่ยงการเกิดมะเร็งปากมดลูกในกลุ่มเป้าหมาย ระหว่างรอวัคซีนที่จะจัดหาเพิ่มเติมโดยเร็ว ทั้งนี้การบริหารจัดการวัคซีนได้เป็นไปตามคำแนะนําของคณะอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคและสอดคล้องกับข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก

นพ.นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ กล่าวเสริมถึงแผนการจัดหาวัคซีน HPV เพิ่มเติมว่า จากการสอบถามไปยังบริษัทผู้ผลิต ได้รับหนังสือยืนยันว่า ในปี 2566 และ 2567 บริษัทผู้ผลิตสามารถจัดหาวัคซีน HPV ได้เพียงพอสำหรับการฉีดเก็บตกในเด็กนักเรียน ชั้น ป.5 ที่ตกค้างได้ ทั้งนี้ ยืนยันว่าวัคซีน HPV ที่จัดหาใช้ในแผนงานสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคของประเทศไทย มีประสิทธิภาพสูง สามารถครอบคลุมสาเหตุของการเกิดโรค มะเร็งปากมดลูกได้ดี โดยเฉพาะหากฉีดก่อนการมีเพศสัมพันธ์

ข้อมูลจาก สถาบันวัคซีนแห่งชาติ/กองโรคติดต่อทั่วไป/สำนักสื่อสารความเสี่ยงฯ กรมควบคุมโรค