-ข่าวพระราชสำนัก

องคมนตรีเชิญถุงพระราชทานไปมอบแก่ราษฎรและเจ้าหน้าที่ พร้อมติดตามการดำเนินงานโครงการสถานีพัฒนาการเกษตรที่สูงตามพระราชดำริ จ.ตาก

เมื่อวันพฤหัสที่ 10 กุมภาพันธ์ 2565 เวลา 10.10 น. นายพลากร สุวรรณรัฐ องคมนตรี ประธานอนุกรรมการติดตามและขับเคลื่อนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในพื้นที่ภาคเหนือ พร้อมด้วยนายลลิต ถนอมสิงห์ เลขาธิการ กปร. นายปวัตร์ นวะมะรัตน รองเลขาธิการ กปร. และคณะอนุกรรมการฯ เชิญถุงพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ไปมอบแก่ราษฎรและผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่ ณ โรงเรียนบ้านน้ำหอม ตำบลแม่ตื่น อำเภอแม่ระมาด จังหวัดตาก รวมจำนวน 551 ชุด พร้อมเสื้อกันหนาว รวม 708 ตัว ไปมอบแก่เด็กในพื้นที่โครงการฯ จำนวน 2 โครงการ ได้แก่ โครงการอนุรักษ์สภาพป่าแม่ตื่นอันเนื่องมาจากพระราชดำริ อำเภอแม่ระมาด จังหวัดตาก และสถานีพัฒนาการเกษตรที่สูงตามพระราชดำริบ้านป่าคา อำเภอคลองลาน จังหวัดกำแพงเพชร ซึ่งราษฎรและเจ้าหน้าที่ทุกคนต่างสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้

จากนั้น องคมนตรี และคณะฯ ติดตามการดำเนินงานของโครงการอนุรักษ์สภาพป่าแม่ตื่นอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เกิดขึ้นจากพระมหากรุณาธิคุณในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงรับไว้เป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เพื่อให้ผืนป่าแม่ตื่นซึ่งเป็นพื้นที่ติดต่อกับผืนป่าอมก๋อย ได้รับการแก้ไขอย่างถูกต้องและเป็นรูปธรรมในการฟื้นฟูและอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ในพื้นที่อนุรักษ์ ให้ราษฎรสามารถพึ่งพาตนเองบนพื้นฐานของการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างถูกต้อง และพัฒนาคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของราษฎรให้ดีขึ้นเพื่อให้คนอยู่กับป่าได้อย่างกลมกลืนและยั่งยืน

ปัจจุบันมีผลสัมฤทธิ์ ประกอบด้วย 1) ด้านการป้องกันรักษาป่า มีการป้องกันการกระทำผิดกฎหมายด้านป่าไม้โดยการจัดทีมลาดตระเวนครอบคลุมทั่วพื้นที่ ราษฎรคืนพื้นที่ จำนวน 562.80 ไร่ การบุกรุกพื้นที่ลดลง รวมถึงการเกิดไฟไหม้ป่าลดลงด้วย 2) ด้านการฟื้นฟูและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ มีการส่งเสริมกิจกรรมต่าง ๆ อาทิ ปลูกป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง ปลูกป่าทั่วไป ปลูกป่าหวาย รวมถึงการจัดทำฝายชะลอน้ำแบบต่าง ๆ (Check dam) เพื่อให้เป็นแหล่งต้นน้ำลำธาร รวมทั้งหมด 4,865 ไร่ ทำให้สภาพป่าต้นน้ำลำธารได้รับการฟื้นฟูให้กลับคืนความสมบูรณ์ดังเดิม

นอกจากนี้ ยังสร้างจิตสำนึกและกระตุ้นให้ราษฎรในพื้นที่รักและหวงแหนในทรัพยากรท้องถิ่น ปลูกฝังเยาวชนด้วยการให้ความรู้และสร้างความตระหนักถึงการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้และสัตว์ป่า ผ่านกิจกรรมครูป่าไม้ มีนักเรียน นักศึกษาผ่านกิจกรรม จำนวน 3,761 คน และ 3) ด้านส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิต ราษฎรปรับเปลี่ยนรูปแบบการใช้ประโยชน์ที่ดินจากการปลูกพืชเชิงเดี่ยว เป็นการปลูกพืชแบบผสมผสานสร้าง รวมทั้งมีการจัดตั้งกลุ่มขึ้น เช่นกลุ่มผู้ปลูกบุกไข่สร้างรายได้ให้แก่ราษฎร 350,000 บาทต่อปี กลุ่มผู้ปลูกกาแฟอินทรีย์ภายใต้ผืนป่า โดยได้รับรางวัลที่ 5 ประเภท Honey process ของการประกวดกาแฟพิเศษ รายการ Thailand coffee Fest 2020 สร้างรายได้กว่า 150,000 บาทต่อปี กลุ่มผู้ปลูกไผ่และแปรรูปหน่อไม้ นอกจากนี้ส่งเสริมการเลี้ยงไก่พื้นเมืองและไก่ไข่พระราชทาน จากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี จำนวน 7 หมู่บ้าน รวม 100 ราย สามารถเพิ่มแหล่งโปรตีนและลดค่าใช้จ่ายให้แก่ราษฎรในพื้นที่ อีกทั้ง สร้างความเข้มแข็งให้ชุมชนโดยการสนับสนุนปรับปรุงระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นให้แก่ราษฎร พร้อมกันนี้ องคมนตรี และคณะฯ ได้พบปะพูดคุยกับราษฎรในพื้นที่ และปลูกต้นไม้เพื่อสร้างร่มเงาให้แก่พื้นที่แห่งนี้

ต่อมาในช่วงบ่าย คณะฯ ได้เดินทางไปยังฐานปฏิบัติการห้วยปางยาง ตำบลแม่ต้าน อำเภอท่าสองยาง จังหวัดตาก เพื่อเชิญถุงพระราชทานพร้อมกับนำความห่วงใยจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงมีต่อผู้ปฏิบัติงานหน่วยงานความมั่นคงในพื้นที่ห่างไกล ที่ได้เสียสละปฏิบัติหน้าที่ป้องกันชายแดนรักษาความสงบสุขเรียบร้อยให้แก่ประชาชนและประเทศชาติไปกล่าวแก่ผู้ปฏิบัติงาน โดยเชิญถุงพระราชทานรวมทั้งสิ้น 311 ชุด มอบแก่ ฐานปฏิบัติการห้วยปางยาง หมวดตำรวจตระเวนชายแดนที่ 3443 และหน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพรานที่ 35 ปฏิบัติราชการสนาม การนี้ องคมนตรี และคณะฯ ได้รับฟังสรุปสถานการณ์ด้านความมั่นคงในพื้นที่ และร่วมปลูกต้นไม้