-ข่าวพระราชสำนัก

องคมนตรี เชิญถุงพระราชทานไปมอบแก่ราษฎรและเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ในพื้นที่จังหวัดเชียงราย

เชียงราย (7 มกราคม 2564) เมื่อเวลา 10.45 น. นายพลากร สุวรรณรัฐ องคมนตรี ประธานอนุกรรมการติดตามและขับเคลื่อนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในพื้นที่ภาคเหนือ พร้อมด้วยนายลลิต ถนอมสิงห์ รองเลขาธิการ กปร. และคณะอนุกรรมการฯ เดินทางไปยังโครงการสถานีพัฒนาการเกษตรที่สูงตามพระราชดำริ ดอยบ่อ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย เพื่อเชิญถุงพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จำนวน 504 ถุง ไปมอบแก่ราษฎรและผู้ปฎิบัติงานในโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จำนวน 5 โครงการ พร้อมเสื้อกันหนาวมอบแก่เด็กในพื้นที่โครงการฯ รวม 1,670 คน ได้แก่ โครงการสถานีพัฒนาการเกษตรที่สูงตามพระราชดำริ ดอยบ่อ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย โครงการสถานีพัฒนาการเกษตรที่สูงตามพระราชดำริ บ้านปางขอน อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย โครงการสถานีพัฒนาการเกษตรที่สูงตามพระราชดำริ บ้านห้วยหยวกป่าโซ อำเภอแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย โครงการบ้านเล็กในป่าใหญ่ตามพระราชดำริ บ้านห้วยหญ้าไซ อำเภอแม่สรวย จังหวัดเชียงราย และโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตชุมชนในพื้นที่อนุรักษ์ (เวียงป่าเป้า) อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดเชียงราย ด้วยทรงห่วงใยชีวิตความเป็นอยู่ของราษฎรและเจ้าหน้าผู้ปฏิบัติงานโดยเฉพาะเด็กที่ได้รับผลกระทบจากอากาศหนาวในหลายพื้นที่ของภาคเหนือ

จากนั้น องคมนตรีและคณะ ได้ติดตามการดำเนินงานโดยรับฟังการบรรยายสรุปผลการดำเนินงานและเยี่ยมชมผลสัมฤทธิ์ของโครงการสถานีพัฒนาการเกษตรที่สูงตามพระราชดำริ ดอยบ่อ ซึ่งได้ดำเนินงานตามแนวพระราชดำริของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในการอนุรักษ์ฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยสถานีพัฒนาการเกษตรที่สูงตามพระราชดำริ ดอยบ่อ ได้จัดทำแปลงสาธิตการทำเกษตรแผนใหม่ เพื่อให้ราษฎรในพื้นที่หมู่บ้านเป้าหมายประกอบด้วย บ้านจะต๋อเบอ บ้านจะฟู และบ้านลอบือ ได้เข้ามาศึกษาเรียนรู้และนำความรู้ไปปฏิบัติในที่ดินของตนเองขณะเดียวกันก็ได้รับค่าจ้างเพื่อให้มีรายได้ด้วย นอกจากนี้ยังมีการฝึกอบรมราษฎรอาสาสมัครพิทักษ์ป่า (รสทป.) และการป้องกันไฟป่า รวมทั้งส่งเสริมให้ปลูกไม้ผลยืนต้นที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่มากขึ้น เช่น ลิ้นจี่ อโวคาโด แมคคาเดเมีย มะม่วง กาแฟ สตรอเบอร์รี่ พืชผักปลอดสารพิษ การทำนาแบบขั้นบันได และการเลี้ยงสัตว์ต่าง ๆ เช่น ไก่ดำ กบ ปลา เป็นต้น เพื่อไว้บริโภคในครัวเรือน และจำหน่ายสร้างรายได้ นอกจากนี้ยังส่งเสริมให้ราษฎรได้มีการศึกษาโดยจัดตั้งศูนย์การศึกษาประจำหมู่บ้านเพื่อให้ความรู้ด้านการศึกษาและส่งเสริมอาชีพต่าง ๆ

ปัจจุบันจากการน้อมนำแนวพระราชดำริมาปฏิบัติในพื้นที่ทำให้บังเกิดผลสัมฤทธิ์ในการพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของราษฎร ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้กลับคืนความอุดมสมบูรณ์ ผืนป่ามีความหลากหลายทางชีวภาพ คนในชุมชนมีความเข้าใจในแนวพระราชดำริที่เกี่ยวกับการพัฒนาป่าไม้และนำไปสู่การปฏิบัติโดยเฉพาะการมีส่วนร่วมในการดำเนินการ เพื่อประโยชน์ของชุมชน เช่น การก่อสร้างฝายต้นน้ำแบบผสมผสาน และฝายแบบกึ่งถาวร ที่ได้สร้างความชุ่มชื้น ลดการไหลบ่าของน้ำในช่วงที่มีฝนตกหนัก ทำให้การกัดเซาะดินของน้ำลดลง ส่งผลให้ชุมชนมีแหล่งน้ำใช้เพื่อการเกษตรและการอุปโภค-บริโภคตลอดทั้งปี จากพระมหากรุณาธิคุณในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง นำมาซึ่งความผาสุกให้กับราษฎรอย่างมั่นคงและยั่งยืนสืบไป.