-ข่าวพระราชสำนัก

องคมนตรี ติดตามการดำเนินงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ในพื้นที่จังหวัดเพชรบุรี

เมื่อวันศุกร์ ที่ 18 ธันวาคม 2563 พลากาศเอก ชลิต พุกผาสุข องคมนตรี ประธานอนุกรรมการติดตามและขับเคลื่อนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในพื้นที่ภาคกลาง นายลลิต ถนอมสิงห์ รองเลขาธิการ กปร. และผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เดินทางไปยังโครงการศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทรายอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ศูนย์ฝึกอาชีพเยาวชนเกษตรของมูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์พัฒนาชีวิตชนบท และโครงการอ่างเก็บน้ำห้วยแม่ประจันต์อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดเพชรบุรี เพื่อชมผลการดำเนินงาน ผลสัมฤทธิ์ ปัญหาอุปสรรค พร้อมคำแนะนำและให้กำลังใจกับผู้ปฎิบัติงาน

เวลาประมาณ 09.00 น. องคมนตรีและคณะฯ ได้เดินทางไปยังโครงการศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทรายอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตำบลสามพระยา อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี โอกาสนี้ องคมนตรีและคณะฯ นั่งรถพ่วงเยี่ยมชมการดำเนินงานภายในโครงการศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทรายฯ และร่วมปล่อยปลาบริเวณอ่างเก็บน้ำเขากระปุก จากนั้นเยี่ยมชมแปลงหญ้าแฝกและงานพัฒนาที่ดิน แปลงถ่านชีวภาพ ไบโอชา โครงการเกษตรทฤษฎีใหม่ (แปลง 5 ไร่) โครงการอาคารแสดงสินค้าและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ฯ และเยี่ยมชมบริเวณร้านค้าสวัสดิการ โดยมี พ.ต.อ. พันธ์ศักดิ์ สมันตรัฐ ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทรายฯ บรรยายสรุปและนำชมกิจกรรมของโครงการศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทรายฯ ซึ่งจัดตั้งขึ้นตามพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เมื่อวันที่ 5 เมษายน 2526 พร้อมกับพระราชทานพระราชดำริ สรุปความว่า

“… ให้พัฒนาพื้นที่เป็นศูนย์ศึกษาการพัฒนาด้านการเกษตรกรรม โดยเน้นการปลูกป่าเพื่อฟื้นฟูสภาพป่าไม้ให้กลับอุดมสมบูรณ์ดังเดิม สามารถทำการปลูกพืชชนิดต่าง ๆ ควบคู่ไปกับการปลูกป่า จัดหาแหล่งน้ำสนับสนุน การปลูกป่าและการเพาะปลูกพืช จัดระเบียบให้ราษฎรในพื้นที่โครงการให้เข้าอยู่อาศัย และทำกินอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการและสอดคล้องกับธรรมชาติ ให้ราษฎรเข้าร่วมดูแลรักษา ตลอดจน ได้อาศัยผลผลิตจากป่าและเพาะปลูกพืชต่าง ๆ โดยไม่ต้องเข้าไปบุกรุกทำลายป่าไม้อีกต่อไป…”

โดยหน่วยงานต่าง ๆ ได้ร่วมกันดำเนินงานสนองพระราชดำริอย่างต่อเนื่อง โดยมีตำรวจตระเวนชายแดน ทำหน้าที่ผู้อำนวยการศูนย์ฯ และได้รับการสนับสนุนงบประมาณงจากสำนักงาน กปร. ภารกิจสำคัญมุ่งเน้นการจัดการเกี่ยวกับ ดิน น้ำ ป่าไม้ การเกษตรและการประกอบอาชีพ เป็นแหล่งเรียนรู้ด้านการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อมและสัตว์ป่าให้กลับมามีความอุดมสมบูรณ์ รวมถึงการนำผลสำเร็จจากแนวทางการพัฒนาตามแนวพระราชดำริไปเผยแพร่ขยายผลสู่ประชาชนในพื้นที่เป้าหมาย จำนวน 29 หมู่บ้าน รวม 4,719 ครัวเรือน ส่งผลให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น มีอาชีพ มีรายได้ และมีความสุขอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง นอกจากนี้ยังเป็นศูนย์กลางการจำหน่ายผลผลิตของเกษตรกรและประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่หมู่บ้านรอบศูนย์ฯ เพื่อช่วยสร้างอาชีพ และเพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกรได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น รวมทั้งได้สนับสนุนโครงการเกษตรอาหารกลางวันของโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนในพื้นที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์และเพชรบุรี จำนวน 10 โรงเรียน ที้งนี้ในปีงบประมาณ 2563 มีผู้สนใจเข้ามาศึกษาดูงานและเยี่ยมชมศูนย์ฯ มากถึง 61,378 คน แม้จะมีสถานการณ์การระบาดของโควิด 19 ศูนย์ฯ ได้ช่วยสนับสนุนปัจจัยการผลิตและความรู้ในการประกอบอาชีพให้แก่ประชาชนที่กลับถิ่นฐานอีกด้วย

จากนั้น องคมนตรีและคณะฯ เดินทางไปยังศูนย์ฝึกอาชีพเยาวชนเกษตร มูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์พัฒนาชีวิตชนบท อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี เพื่อเยี่ยมชมผลการดำเนินงานของศูนย์ฝึกอาชีพฯ ที่ได้มีส่วนร่วมในการพัฒนาคุณภาพชีวิตเยาวชนที่ขาดแคลน ให้ได้รับโอกาสทางการศึกษา เติบโตเป็นพลเมืองที่ดี มีอาชีพที่ยั่งยืน รวมถึงได้ขยายผลไปยังเกษตรกรในชุมชนโดยรอบ

ต่อมาในช่วงบ่าย องคมนตรีและคณะฯ เดินทางไปยังโครงการอ่างเก็บน้ำห้วยแม่ประจันต์อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตำบลหนองหญ้าปล้อง อำเภอหนองหญ้าปล้อง จังหวัดเพชรบุรี ในการนี้ รับฟังบรรยายสรุปภาพรวมการติดตามและขับเคลื่อนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในพื้นที่ภาคกลาง และในพื้นที่จังหวัดเพชรบุรี การรายงานสรุปสถานการณ์น้ำในพื้นที่จังหวัดเพชรบุรี และสรุปผลการดำเนินโครงการอ่างเก็บน้ำห้วยแม่ประจันต์อันเนื่องมาจากพระราชดำริ โดยโครงการได้ก่อสร้างขึ้นตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2523 โดยพระราชทานพระราชดำริเกี่ยวกับงานชลประทาน สรุปความว่า

“ให้กรมชลประทานพิจารณาวางโครงการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำห้วยแม่ประจันต์ เพื่อจัดหาน้ำให้ราษฎรที่อาศัยอยู่ตามหมู่บ้านต่าง ๆ ริมห้วยแม่ประจันต์ให้มีน้ำใช้เพาะปลูกและอุปโภคบริโภคได้ตลอดปี นอกจากนั้นยังช่วยระบายน้ำลงมาเสริมให้กับโครงการชลประทานเพชรบุรีในระยะที่ขาดแคลนน้ำและช่วยเก็บกักไว้ใช้ในฤดูน้ำนอง เพื่อช่วยบรรเทาอุทกภัยในเขตโครงการเพชรบุรีให้ได้ผลสมบูรณ์ยิ่งขึ้น”

โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมดำเนินงานสนองพระราชดำริก่อสร้างโครงการอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง ประเภทเขื่อนดิน ปิดกั้นลำห้วยแม่ประจันต์ เริ่มก่อสร้างเมื่อปี 2539 ความยาวสันเขื่อน 2,105 เมตร ความกว้างสันเขื่อน 8 เมตร ความสูง 21.6 เมตร มีความจุปริมาณน้ำที่ระดับกักเก็บ 42.2 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งได้ดำเนินการแล้วเสร็จในปี 2549 ทำให้สามารถเป็นแหล่งเก็บกักน้ำ สำหรับช่วยเหลือราษฎรที่อาศัยอยู่ตามหมู่บ้านต่าง ๆ ริมห้วยแม่ประจันต์ให้มีน้ำใช้เพื่อการเพาะปลูกและการอุปโภคบริโภคตลอดปี ช่วยบรรเทาอุทกภัยของโครงการชลประทานเพชรบุรีในช่วงฤดูน้ำหลาก เป็นแหล่งเพาะพันธุ์สัตว์น้ำให้ประชาชนได้บริโภคและหารายได้จากการจับสัตว์น้ำ รวมถึงเป็นแหล่งท่องเที่ยวและสถานที่พักผ่อนหย่อนใจของประชาชนอีกด้วย

จากนั้น องคมนตรีและคณะฯ ได้ขึ้นเรือบริเวณที่จะดำเนินการขุดลอกอ่างเก็บน้ำ เดินทางไปยังวัดวังพุไทร อำเภอหนองหญ้าปล้อง จังหวัดเพชรบุรี และลงเรือบริเวณท่าน้ำวัดวังพุไทร ในโอกาสนี้ ได้ร่วมกันปล่อยปลา สักการะพระประธานในพระอุโบสถและพระเจดีย์ที่ประดิษฐานพุทธปฏิมาและพระบรมธาตุ ในการนี้ องคมนตรีและคณะ ได้ถวายสังฆทานแด่พระสงฆ์ จำนวน 6 รูป ซึ่งวัดวังพุไทรสร้างขึ้นเมื่อปี 2516 ศูนย์รวมศรัทธาร่วมใจของพุทธศาสนิกชน เจ้าพระคุณสมเด็จพระสังฆราชได้ทรงพระเมตตารับการก่อสร้างวัดวังพุไทรไว้ในพระอุปถัมภ์ โดยพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งดำรงพระราชอิสริยยศ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช ฯ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จพระราชดำเนินมาทรงบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ และทรงตัดลูกนิมิตวัดวังพุไทร โดยคณะสงฆ์มีเจ้าพระคุณสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ทรงเป็นประธานประกอบพิธีสมมิตสีมา ณ วัดแห่งนี้

ต่อมาเดินทางไปยังแปลงเกษตรของ นายสมทบ เจ๊กภู่ เกษตรกรและกลุ่มผู้ใช้น้ำผู้รับประโยชน์จากโครงการอ่างเก็บน้ำห้วยแม่ประจันต์ฯ โดยรับฟังบรรยายสรุปและเยี่ยมชมแปลงเกษตรบนพื้นที่ 70 ไร่ ซึ่งในปัจจุบันได้ใช้น้ำจากท่อส่งน้ำฝั่งขวาของอ่างเก็บน้ำห้วยแม่ประจันต์อันเนื่องมาจากพระราชดำริเป็นหลัก และสูบน้ำจากลำห้วยแม่ประจันต์มาใช้ทำการเกษตรแบบผสมผสาน ปลูกผลไม้จำพวกทุเรียน มะยงชิด ส้มโอ เงาะ มังคุด ลำไย กล้วย ปลูกไผ่หวาน ไผ่กิมจู และมีบ่อน้ำสำหรับเลี้ยงปลานิล และปลาตะเพียน โดยตั้งแต่เกษตรกรได้ใช้น้ำจากระบบท่อของโครงการฯ ทำให้ต้นทุนของผลผลิตน้อยลง สามารถปลูกพืชได้หลากหลายชนิดขึ้น ทำให้มีรายได้ที่มั่นคงและมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น