-ข่าวพระราชสำนัก

องคมนตรี เป็นประธานเปิดงาน“38 ปี ศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานฯ สืบสาน รักษา ต่อยอด เพื่อพัฒนาชีวิตที่ยั่งยืน”

สกลนคร(25 พฤศจิกายน 2563) เมื่อเวลา 09.30 น. นายพลากร สุวรรณรัฐ องคมนตรี ประธานกรรมการบริหารโครงการศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เป็นประธานพิธีเปิดงาน “38 ปี ศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานฯ สืบสาน รักษา ต่อยอด เพื่อพัฒนาชีวิตที่ยั่งยืน” ณ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตำบลห้วยยาง อำเภอเมือง จังหวัดสกลนคร

โอกาสนี้ นายดนุชา สินธวานนท์ เลขาธิการคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ กล่าวรายงานการจัดงาน “38 ปี ศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานฯ สืบสาน รักษา ต่อยอด เพื่อพัฒนาชีวิตที่ยั่งยืน” จัดขึ้นระหว่างวันที่ 25-26 พฤศจิกายน 2563 เนื่องในโอกาสวันคล้ายวันก่อตั้งศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานฯ ครบรอบ 38 ปี เพื่อรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่พระราชทานพระราชดำริในการจัดตั้งศูนย์ศึกษาการพัฒนาแห่งนี้เพื่อให้เป็นสถานที่รวบรวมสรรพวิชาการด้านต่าง ๆ ขยายผลองค์ความรู้เพื่อให้เกิดประโยชน์สุขแก่ประชาชน และสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่มีพระราชปณิธานในการสืบสาน รักษา ต่อยอด โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ

ตลอดระยะเวลา 38 ปี ศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานฯ ได้พัฒนาพื้นที่ให้เป็นศูนย์แห่งการเรียนรู้และให้บริการด้านวิชาการและเทคนิคต่าง ๆ ในด้านการเกษตร ทั้งดิน น้ำ ป่าไม้ สิ่งแวดล้อม และการประกอบอาชีพของราษฎรในท้องถิ่น รวมทั้งนำองค์ความรู้ที่ได้จากการศึกษา ทดลอง ถ่ายทอดให้แก่ราษฎรในรูปแบบต่าง ๆ เช่น การให้คำปรึกษา การจัดฝึกอบรม การส่งเสริม และการขยายผล โดยในปีงบประมาณ 2563 มีผู้สนใจเข้ามาศึกษาดูงาน รวม 45,161 คน แต่เนื่องจากเกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19 ศูนย์ฯ จึงงดรับคณะศึกษาดูงานในช่วงระหว่างเดือนมีนาคม ถึง กรกฎาคม 2563 โดยศูนย์ฯได้จัดฝึกอบรมในรูปแบบต่าง ๆ ที่เหมาะสมกับสถานการณ์ อาทิ การอบรมออนไลน์ การอบรมแบบกลุ่มย่อย การอบรมผ่านโปรแกรมต่าง ๆ โดยมีผู้เข้ารับการฝึกอบรม จำนวนรวม 4,463 คน หลักสูตรที่ได้รับความสนใจมากที่สุด ได้แก่ หลักสูตรเกษตรทฤษฎีใหม่ เกษตรผสมผสาน และหลักสูตรการเลี้ยงปลานิลแดงร่วมกับเป็ดบาบารีลูกผสมในบ่อครัวเรือน

จากนั้น องคมนตรีได้กล่าวเปิดงานพร้อมกับมอบนโยบายการดำเนินงานของศูนย์ฯ เพื่อสร้างประโยชน์สุขให้แก่ประชาชนตามพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พร้อมกับมอบเกียรติบัตรและรางวัลให้แก่ผู้ได้รับรางวัลจากการประกวดภาพถ่ายในหัวข้อ “พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติ ณ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพาน” จำนวน 7 ราย

ต่อมาได้เยี่ยมชมร้านจำหน่ายผลผลิตทางการเกษตร และชมนิทรรศการกิจกรรมต่าง ๆ ซึ่งได้รวบรวมผลงานที่โดดเด่นของศูนย์ศึกษาฯ นำมาจัดแสดงในรูปแบบนิทรรศการ เช่น ผ้าไหมย้อมคราม สี่ดำมหัศจรรย์ การจัดแสดงข้าวพันธุ์ดี ตลอดจนการแสดงผลสัมฤทธิ์จากกลุ่มเกษตรกร และการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ด้านการเกษตร เพื่อเป็นการส่งเสริมให้ราษฎรและผู้ที่มาเยี่ยมชมได้เรียนรู้ถึงผลสำเร็จของการน้อมนำแนวพระราชดำริปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงไปประยุกต์ใช้ในการประกอบอาชีพเพื่อให้เกิดความยั่งยืน ต่อมาองคมนตรี ได้ร่วมปลูกต้นอินทนิลน้ำ และปล่อยพันธุ์ปลา 9 ชนิด อาทิ ปลาตะเพียนขาว ปลาหมอไทย ปลากดเหลือง ฯลฯ จำนวน 38,000 ตัว ณ บริเวณฝายตายอด

ในช่วงบ่าย องคมนตรีและคณะ ได้ชมนิทรรศการเกี่ยวกับข้าวพันธุ์ดี และร่วมกิจกรรมหว่านพืชหลังนา พร้อมทั้งพบปะกลุ่มสหกรณ์ข้าวครบวงจร โอกาสนี้ องคมนตรีได้เป็นประธานในพิธีเปิดห้องนิทรรศการในอาคารเฉลิมพระเกียรติ 84 พรรษา พร้อมชมนิทรรศการ

ต่อมาเวลา 16.00 น. องคมนตรี และคณะเดินทางไปยังโครงการอ่างเก็บน้ำห้วยทรายขมิ้นอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตำบลพังขว้าง อำเภอเมืองสกลนคร จังหวัดสกลนคร พร้อมกับรับฟังบรรยายสรุปความก้าวหน้าและการบริหารจัดการน้ำของอ่างเก็บน้ำห้วยทรายขมิ้น ซึ่งเดิมอ่างเก็บน้ำแห่งนี้มีขนาดความจุ 2,400,000 ลูกบาศก์เมตร และเมื่อปี 2560 ได้เกิดอุทกภัยจากพายุโซนร้อนเซินกา ทำให้อ่างเก็บน้ำซึ่งมีอายุการใช้งานมากกว่า 60 ปี ชำรุดเสียหาย ส่งผลให้ราษฎรได้รับความเดือดร้อน โดยเฉพาะพื้นที่การเกษตร พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะ สำนักงาน กปร. เร่งดำเนินการปรับปรุงอ่างเก็บน้ำให้ใช้การได้โดยเร็ว ต่อมาเมื่อวันที่ 12 สิงหาคม 2560 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ รับเป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ

ปัจจุบันอ่างเก็บน้ำห้วยทรายขมิ้นฯ มีขนาดความจุเพิ่มขึ้นที่ระดับเก็บกักเป็น 3,000,000 ลูกบาศก์เมตร พร้อมทำหน้าที่ส่งต่อสายธารแห่งพระมหากรุณาธิคุณเพื่อให้ราษฎรอำเภอเมืองสกลนคร จำนวน 1,223 ครัวเรือน 4,584 คน มีน้ำสำหรับใช้ทำการเกษตรและอุปโภคบริโภคอย่างเพียงพอ สนับสนุนพื้นที่ทำการเกษตรในช่วงฤดูแล้ง จำนวน 1,000 ไร่ และฤดูฝน จำนวน 3,000 ไร่ นอกจากนี้ยังได้มีการจัดตั้งคณะกรรมการจัดการชลประทาน (JMC) เพื่อบริหารจัดการน้ำในลุ่มน้ำห้วยทรายขมิ้นให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อไป.