-ข่าวพระราชสำนัก

องคมนตรี ติดตามการบริหารจัดการน้ำตามแนวพระราชดำริฯ ในพื้นที่ปราจีนบุรี-นครนายก

เมื่อวันจันทร์ที่ 26 ตุลาคม 2563 เวลา 10.30 น. นายพลากร สุวรรณรัฐ องคมนตรี ประธานกรรมการติดตามและขับเคลื่อนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ และคณะฯ เดินทางไปยังพื้นที่โครงการอ่างเก็บน้ำนฤบดินทรจินดา ตำบลแก่งดินสอ อำเภอนาดี จังหวัดปราจีนบุรี

ในการนี้ องคมนตรีและคณะ รับฟังรายงานสรุปผลการดำเนินงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ในเขตพื้นที่จังหวัดปราจีนบุรี จากนางสาวอุศนีย์ ธูปทอง รองเลขาธิการ กปร. จากนั้นกรมชลประทานได้รายงานสถานการณ์น้ำภาคตะวันออกและสรุปการดำเนินงานสนองพระราชดำริในโครงการพัฒนาแหล่งน้ำอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดปราจีนบุรี รวมถึงสรุปความก้าวหน้า การดำเนินงาน และผลสัมฤทธิ์ของโครงการอ่างเก็บน้ำนฤบดินทรจินดา ในด้านต่างๆ ได้แก่ การบริหารจัดการน้ำ การฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม และการพัฒนาอาชีพ ซึ่งอ่างเก็บน้ำนฤบดินทรจินดา เป็นหนึ่งในโครงการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดใหญ่อันเนื่องมาจากพระราชดำริที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พระราชทานพระราชดำริ ไว้ตั้งแต่เมื่อวันที่ 22 มกราคม 2521 ให้พัฒนาต้นน้ำลำธารปราจีนบุรี โดยให้พิจารณาสร้างเขื่อนเก็บกักน้ำ 3 เขื่อน ได้แก่ เขื่อนห้วยพระปรง เขื่อนห้วยยาง และเขื่อนห้วยโสมง หรือ อ่างเก็บน้ำนฤบดินทราจินดา ในปัจจุบัน เพื่อจัดหาน้ำให้ราษฎรสำหรับทำการเพาะปลูกได้ทั้งในฤดูฝนและฤดูแล้ง รวมถึงน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคได้ตลอดปี

อ่างเก็บน้ำนฤบดินทรจินดา สำนักงาน กปร. กรมชลประทานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันสนองพระราชดำริ โดยดำเนินการเป็นเขื่อนดินแบบแบ่งโซน (Zone Type Dam) ความสูงประมาณ 33 เมตร ความยาวประมาณ 3,970 เมตร พร้อมทำนบดินปิดช่องเขาต่ำจำนวน 2 แห่ง และระบบส่งน้ำระบายน้ำ ปริมาณความจุ 295 ล้านลูกบาศก์เมตร พื้นที่รับประโยชน์ 111,300 ไร่ เริ่มเก็บกักน้ำได้ตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2559 ปัจจุบันมีปริมาณน้ำประมาณ 228 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 77.31 ของความจุเก็บกัก (ข้อมูล ณ วันที่ 21 ตุลาคม 2563)

เมื่อสร้างอ่างเก็บน้ำนฤบดินทรจินดาแล้วเสร็จ ช่วยแก้ปัญหาอุทกภัยที่เกิดขึ้นเป็นประจำทุกปีได้เป็นอย่างดีส่งผลให้ไม่เกิดน้ำท่วมอีกเลย อีกทั้งช่วยฟื้นฟู รักษาระบบนิเวศน์ของสภาพป่าและทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่ป่าเหนืออ่างเก็บน้ำและบริเวณโดยรอบ เกษตรกรมีน้ำสำหรับอุปโภค-บริโภค และทำเกษตรกรรม และสามารถทำการประมงสร้างรายได้ให้แก่ราษฎรอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน

จากนั้นองคมนตรี และคณะ ได้ร่วมกันปล่อยปลาที่บริเวณสันอ่างเก็บน้ำแห่งนี้ เพื่อเพิ่มปริมาณสัตว์น้ำและเป็นแหล่งทำกินที่มั่นคงให้แก่ประชาชนตลอดไป

ในช่วงบ่ายวันนี้ เวลาประมาณ 15.45 น. องคมนตรี และคณะ เดินทางต่อไปยังโครงการเขื่อนขุนด่านปราการชล ที่ตำบลหินตั้ง อำเภอเมืองนครนายก จังหวัดนครนายก โอกาสนี้ รับฟังการบรรยายสรุปเกี่ยวกับโครงการพัฒนาแหล่งน้ำอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ในเขตจังหวัดนครนายก และความก้าวหน้าการดำเนินงานและผลสัมฤทธิ์ของโครงการเขื่อนขุนด่านปราการชล ด้านการบริหารจัดการน้ำ ด้านการพัฒนาอาชีพ และด้านการท่องเที่ยว

เขื่อนขุนด่านปราการชล พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้พระราชทานพระราชดำริ เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2536 ให้พิจารณาวางโครงการก่อสร้างเขื่อนคลองท่าด่าน ที่บ้านท่าด่าน เพื่อเก็บกักน้ำไว้ใช้ในการเกษตรกรรม อุปโภคบริโภค แก้ไขปัญหาดินเปรี้ยว และช่วยบรรเทาอุทกภัยในเขตจังหวัดนครนายก และเมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2549 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทาน เขื่อนขุนด่านปราการชล จากเดิมมีชื่อว่าโครงการก่อสร้างคลองท่าด่านอันเนื่องมาจากพระราชดำริ โดยมีลักษณะเป็นเขื่อนคอนกรีตบดอัด (RCC DAM) ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย มีความสูง 93 เมตร ยาว 2,594 เมตร สามารถเก็บกักน้ำได้ 224 ล้านลูกบาศก์เมตร เริ่มเก็บกักน้ำตั้งแต่ตุลาคม 2547 เป็นต้นมา มีพื้นที่รับประโยชน์รวม 185,000 ไร่ ครอบคลุมพื้นที่ 3 อำเภอ 15 ตำบล 96 หมู่บ้าน 9,104 ครัวเรือน

โดยสำนักงาน กปร. สนับสนุนงบประมาณตั้งแต่ปี 2549 และดำเนินงานสนองพระราชดำริร่วมกับกรมชลประทาน จังหวัดนครนายก และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการวางแผนการใช้ประโยชน์ และดำเนินกิจกรรมได้แก่ การพัฒนาส่งเสริมอาชีพทั้งภาคการเกษตรและนอกภาคเกษตร การแก้ไขปัญหาดินเปรี้ยว การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การพัฒนาและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์ และการพัฒนาคุณภาพชีวิต ส่งผลให้เกษตรกรมีการรวมกลุ่มมากขึ้นและมีรายได้ดีขึ้น เนื่องจากมีแหล่งน้ำซึ่งถือเป็นต้นทุนทำการเกษตร และยังช่วยเพิ่มปริมาณน้ำใต้ดินซึ่งเห็นได้ชัดจากบ่อน้ำใช้ซึ่งจากเดิมในช่วงฤดูแล้งจะขาดแคลนน้ำ แต่ปัจจุบันเกษตรกรมีน้ำใช้ตลอดปี เขื่อนขุนด่านปราการชล นอกจากสร้างประโยชน์ดังกล่าวแล้วยังก่อประโยชน์ในการผลักดันน้ำเค็มไม่ให้รุกล้ำเข้ามา อีกทั้งยังช่วยในเรื่องของการผลิตกระแสไฟฟ้าได้ถึง 28 ล้านหน่วยต่อปี นอกจากนี้ยังเป็นแหล่งเพาะพันธุ์สัตว์น้ำ ก่อเกิดอาชีพประมง สร้างรายได้ให้แก่ราษฎรอย่างครบวงจร ทั้งการเกษตร ประมง ตลอดจนเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญของจังหวัดนครนายก นับได้ว่า เขื่อนขุนด่านได้สร้างคุณูปการให้แก่แผ่นดินได้อย่างสมบูรณ์ เป็นต้นแบบการพัฒนาตามแนวพระราชดำริได้อย่างชัดเจนในการสร้างประโยชน์และความสุขให้แก่ประชาชนได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน

จากนั้น องคมนตรี และคณะ ได้เดินทางไปยังอาคารศูนย์เรียนรู้เขื่อนขุนด่านปราการชล เพื่อชมนิทรรศการเรื่องราวการก่อสร้างและพระมหากรุณาธิคุณที่มีต่อชาวจังหวัดนครนายก โอกาสนี้ องคมนตรี ได้ปลูกต้นรวงผึ้งบริเวณสันเขื่อน เพื่อสร้างร่มเงาและรักษาความชุ่มชื้นให้แก่ผืนดิน ณ ที่แห่งนี้ตลอดไป