-Economicsenvironment

สทนช.เปิดตัวโครงการจัดทำ “ผังน้ำ” ในพื้นที่ 4 ลุ่มน้ำภาคกลาง

สทนช. ลงพื้นที่เปิดตัวศึกษาเพื่อจัดทำผังน้ำพื้นที่ภาคกลาง 4 ลุ่มน้ำสำคัญ ได้แก่ ลุ่มน้ำเจ้าพระยา สะแกกรัง ป่าสัก และท่าจีน เน้นการรับฟังความคิดเห็นและการมีส่วนร่วมของประชาชน หวังใช้เป็นเครื่องมือบริหารจัดการน้ำเชิงพื้นที่


จังหวัดพระนครศรีอยุธยา (22 กันยายน 2563) นายปรีชา สุขกล่ำ ที่ปรึกษาด้านบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ(สทนช.) เปิดเผยภายหลังการประชุมผังน้ำครั้งที่ 1 (ปฐมนิเทศโครงการ) ณ ห้องแกรนด์บอลรูม โรงแรมอยุธยาแกรนด์ อำเภออุทัย ว่า สทนช. ร่วมกับกลุ่มบริษัทที่ปรึกษา จัดการประชุมผังน้ำ ครั้งที่ 1 (ปฐมนิเทศโครงการ) โครงการจัดทำผังน้ำ ลุ่มน้ำสะแกกรัง ลุ่มน้ำป่าสัก ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ลุ่มน้ำท่าจีน เพื่อนำเสนอแนวคิดและขั้นตอนในการจัดทำผังน้ำ ให้ทุกภาคส่วนได้รับทราบ พร้อมรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะ โดยมีผู้เข้าร่วมการประชุม ประกอบด้วย คณะกรรมการลุ่มน้ำ คณะอนุกรรมการทรัพยากรน้ำจังหวัด ผู้แทนหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย สื่อมวลชน และประชาชนในพื้นที่

ทั้งนี้ เนื่องจากพื้นที่ภาคกลางมีลุ่มน้ำสายสำคัญถึง 4 สายและมีพื้นที่กว้างขวาง สทนช.จึงได้แบ่งการจัดปฐมนิเทศออกเป็น 4 ครั้ง โดยวันนี้เป็นการจัดประชุมแนะนำโครงการในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ครอบคลุมพื้นที่ 20,442 ตารางกิโลเมตร ใน 19 จังหวัด

นายปรีชา สุขกล่ำ กล่าวว่า พระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ.2561 ได้กำหนดให้ สทนช. เป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินการจัดทำผังน้ำ เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำตามที่กฎหมายได้ระบุไว้ และในปี 2562 สทนช. ได้ดำเนินการจัดทำแผนหลักการจัดทำผังน้ำ เพื่อกำหนดกรอบแนวทาง วิธีการศึกษาการจัดทำผังน้ำที่เหมาะสม กำหนดรูปแบบ แผนที่ผังน้ำให้มีมาตรฐานเป็นที่ยอมรับและใช้ประโยชน์ได้แล้วเสร็จ และในปีนี้ สทนช. ได้คัดเลือกลุ่มน้ำสะแกกรัง ลุ่มน้ำป่าสัก ลุ่มน้ำเจ้าพระยา และลุ่มน้ำท่าจีน ซึ่งเป็นลุ่มน้ำที่สำคัญในพื้นที่ภาคกลางมาดำเนินการศึกษาก่อน เนื่องจากเป็นพื้นที่เศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศที่ประสบปัญหาด้านน้ำทั้งปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง และสิ่งกีดขวางทางน้ำต่าง ๆ นอกจากนี้ ยังมีลุ่มน้ำชี และลุ่มน้ำมูล ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ลุ่มน้ำบางปะกงในภาคตะวันออก และลุ่มน้ำแม่กลองในภาคตะวันตกมาดำเนินการศึกษาในปีนี้ด้วย

สำหรับกระบวนการในการดำเนินการศึกษานั้น จะมีการศึกษาและทบทวนกายภาพของพื้นที่ การใช้ประโยชน์ที่ดินในอดีตถึงปัจจุบัน ข้อกำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดินตามผังเมือง การพัฒนาเมืองและพื้นที่เศรษฐกิจ ระบบโครงสร้างพื้นฐาน การรวบรวม วิเคราะห์ข้อมูลจากแผนที่ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น แผนที่แสดงโครงข่ายระบบระบายน้ำในปัจจุบัน ทิศทางการไหลของน้ำ วิเคราะห์สภาพและสาเหตุของการเกิดอุทกภัยและภัยแล้ง แผนที่แสดงระบบป้องกันน้ำท่วมและการบรรเทาอุทกภัย การบริหารจัดการอุทกภัย มูลค่าความเสียหายและวิเคราะห์การแก้ไขปัญหาที่ผ่านมา แผนที่แสดงจุดประกาศภัยแล้ง การบริหารจัดการภัยแล้ง มูลค่าความเสียหายและวิเคราะห์การแก้ไขปัญหาที่ผ่านมา จากหน่วยงานต่างๆ พร้อมทั้งจัดทำแผนที่แสดงสิ่งปลูกสร้างและโครงสร้างพื้นฐานที่กีดขวางทางน้ำ ตลอดจนการรวบรวมข้อมูลและวิเคราะห์ข้อมูลที่เกี่ยวข้องอย่างรอบด้านเพื่อนำมากำหนดขอบเขตผังน้ำ โดยใช้แบบจำลองคณิตศาสตร์

ทั้งนี้ ในการศึกษาจะจัดทำแผนปรับปรุง ฟื้นฟูทางน้ำและแหล่งน้ำธรรมชาติที่เชื่อมโยงกับทางน้ำสายหลัก และในกรณีที่เป็นสิ่งกีดขวางทางน้ำจะเสนอแนะขนาดของช่องเปิดของอาคารในลำน้ำ รวมทั้งดำเนินการศึกษาระบบสารสนเทศเพื่อการบริหารจัดการอุทกภัยและภัยแล้ง ซึ่งแสดงรายละเอียดข้อมูลของผังน้ำ ประกอบด้วย ขอบเขตพื้นที่น้ำท่วมถึงตลอดทั้งสองฝั่งลำน้ำ ขอบเขตพื้นที่ผังน้ำ ขอบเขตโซนพื้นที่ในผังน้ำ (พื้นที่เสี่ยงภัยน้ำท่วมระดับสูง กลาง ต่ำ ระดับต่าง ๆ) และรายละเอียดต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อใช้ประกอบในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ โดยมีเป้าหมายในการลดความเสี่ยงต่อการดำรงชีวิตและทรัพย์สิน ซึ่งในกรณีที่ได้รับอนุญาตให้มีการพัฒนาในพื้นที่ผังน้ำ จะมีหลักเกณฑ์ในการพัฒนาและการก่อสร้างเพื่อลดความเสี่ยงต่อชีวิตและทรัพย์สินจากน้ำท่วมและความเสี่ยงจากการก่อสร้างสิ่งกีดขวางทางน้ำที่ส่งผลกระทบต่อระดับน้ำในพื้นที่ด้วย

“สทนช. คาดว่าจะสามารถจัดทำผังน้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ลุ่มน้ำสะแกกรัง ลุ่มน้ำป่าสัก และลุ่มน้ำท่าจีน ให้แล้วเสร็จในเดือนกันยายน 2564 โดยจะมีการเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นของภาคประชาชน คณะกรรมการลุ่มน้ำ คณะอนุกรรมการทรัพยากรน้ำจังหวัด ตลอดจนหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ จำนวน 4 ครั้งต่อลุ่มน้ำ เพื่อให้ทุกภาคส่วนได้ร่วมกันพิจารณา พร้อมสะท้อนปัญหาและความต้องการใช้ประโยชน์ในพื้นที่ได้อย่างตรงจุด เพื่อให้หน่วยงานสามารถนำผังน้ำไปใช้สนับสนุนแผนงานการป้องกันแก้ไขอุทกภัยและภัยแล้ง รวมทั้งการบริหารจัดการอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำในเขตลุ่มน้ำได้อีกด้วย” ที่ปรึกษาด้านบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ สทนช. กล่าว