-Agri

ฝนนี้..เกษตรกรพึงระวังแมลงวันทอง ศัตรูร้ายทำลายพืชผล

สำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 3 จังหวัดระยอง โดยนายดำรงฤทธิ์ หลอดคำ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 3 จังหวัดระยอง ฝากเตือนพี่น้องเกษตรกรให้เฝ้าระวังและควบคุมการระบาดของแมลงวันผลไม้หรือแมลงวันทองในช่วงฤดูฝนนี้ ลักษณะการทำลาย ความเสียหายที่เกิดจากแมลงวันผลไม้มักจะเกิดขึ้นเมื่อ เพศเมียใช้อวัยวะวางไข่ (ovipositor) แทงเข้าไปในผลไม้ ตัวหนอนที่ฟักจากไข่จะอาศัยและชอนไชอยู่ภายใน ทำให้ผลเน่าเสียและร่วงหล่นลงพื้น ตัวหนอนจะออกมาเพื่อเข้าดักแด้ในดินแล้วจึงออกเป็นตัวเต็มวัย แมลงวันผลไม้วางไข่ในผลไม้ที่ใกล้สุกและมีเปลือกบาง ในระยะเริ่มแรกจะสังเกตได้ยากอาจพบ เมื่อหนอนโตขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้ผลเน่าเละและมีน้ำไหลเยิ้มออกทางรูที่หนอนเจาะออกมาเพื่อเข้าดักแด้ ผลไม้ที่ถูกทำลายนี้มัก จะมีโรคและแมลงชนิดอื่น ๆ เข้าทำลายซ้ำ แมลงวันผลไม้ ระบาดทั่วทุกภาค ทั้งในเขตป่าและในบ้าน และสามารถอยู่ได้แม้มีระดับความสูงถึง 2,760 เมตร จากระดับน้ำทะเล และยังพบตลอดทั้งปี เนื่องจากมีพืชอาหารมากมาย แต่จะมีปริมาณแมลงวันผลไม้สูงสุดในช่วงเดือนที่มีผลไม้สุกคือ ในช่วงเดือนมีนาคม ถึงมิถุนายน อุณหภูมิที่เหมาะสมอยู่ในช่วง 25 -28 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ประมาณ 70 -80 เปอร์เซ็นต์

พืชอาศัยแมลงวันผลไม้มีพืชอาศัยมากกว่า 50 ชนิด ในเขตภาคกลาง คือ มะม่วง ฝรั่ง ชมพู่ ละมุด พุทรา น้อยหน่า ขนุน เงาะ ลองกอง ลำไย ลิ้นจี่ กระท้อน สะตอ กล้วยน้ำว้า มะกอกฝรั่ง มะเฟือง มะปราง มะละกอมะยง พริก ชำมะเลียง มะกอกน้ำ มะม่วงหิมพานต์ เชอรี่หวาน กระโดน สตาร์แอปเปิ้ล หว้า มะเดื่อหอม มะเดื่ออุทุมพร มะม่วงป่า ละมุด พิกุล ตะขบฝรั่ง กล้วยป่า หูกวาง เล็บเหยี่ยว มะตูม

การป้องกันและกำจัด มีดังนี้

1. การทำความสะอาดบริเวณแปลงเพาะปลูก โดยการรวบรวมทำลายผลไม้ที่เน่าเสีย อันเนื่องมาจากถูกแมลงวันผลไม้เข้าทำลายโดยนำไปหมักเป็นปุ๋ยชีวภาพ หรือใส่ถุงดำทิ้งไว้ไม่ให้หนอนออกมาเข้าดักแด้ในดิน จะสามารถหยุดยั้งการเพิ่มจำนวนของประชากรอย่างรวดเร็วของแมลงได้

2. การห่อผล ควรจะห่อให้มิดชิดไม่ให้มีรูหรือรอยฉีกขาดเกิดขึ้น

3. การควบคุมโดยชีววิธี ในธรรมชาติแล้ว แมลงวันผลไม้มีแมลงศัตรูธรรมชาติอยู่แล้ว มีอัตราการทำลายตั้งแต่ 15 -53 เปอร์เซ็นต์และตัดทำลายพืชอาศัยที่อยู่ตามหัวไร่ปลายนาทิ้ง

4. การฉีดพ่นด้วยสารฆ่าแมลง การใช้สารฆ่าแมลงนั้นเป็นการลดปริมาณประชากรของแมลงวันผลไม้ในธรรมชาติได้อย่างรวดเร็วและเห็นผลได้ชัด แต่ในขณะเดียวกันแมลงก็มีการเคลื่อนย้ายจากแหล่งที่ไม่ได้ฉีดพ่นสารฆ่าแมลงเข้าทำลายอีก และต้องพ่นซ้ำอีก เพื่อป้องกันไม่ให้แมลงเข้าทำลายซึ่งอาจก่อให้เกิดปัญหาเรื่องสารพิษตกค้างและการทำลายแมลงศัตรูธรรมชาติได้

5.การใช้สารล่อแมลงวันผลไม้ตัวผู้ สารเคมีที่ใช้เป็นสารล่อนี้จะสามารถดึงดูดได้เฉพาะแมลงวันผลไม้ตัวผู้เท่านั้น และการใช้สารล่อนั้นจะต้องคำนึงถึงแมลงที่ต้องการให้เข้ามาในกับดักด้วย เพราะว่าแมลงวันผลไม้จะมีความเฉพาะเจาะจงกับสารล่อแต่ละชนิด เช่น เมทธิล ยูจินอล (Methyl Eugenol) ใช้ล่อแมลงวันผลไม้ จำพวก Bactrocera dorsalis, Bactrocera umbrosus คิว-ลัวร์ (Cue -Lure) ใช้ล่อแมลงวันผลไม้ จำพวก Bactrocera cucurbitae, Bactrocera tau เป็นต้น

6.การใช้เหยื่อโปรตีน โดยการนำเอายีสต์โปรตีนออโตไลเสท (Protein autolysate) ผสมกับสารฆ่าแมลงมาเป็นเหยื่อล่อแมลงวันผลไม้ โดยใช้ยีสต์โปรตีนออโตไลเสท 800 ซีซี ผสมสารฆ่าแมลง malathion 83 เปอร์เซ็นต์ จำนวน 280 ซีซี ผสมน้ำ 20 ลิตร พ่นเป็นจุด ๆ เท่านั้น วิธีการนี้ให้ผลที่ดีมาก นอกจากจะประหยัดทั้งค่าใช้จ่ายในการใช้สารฆ่าแมลงและแรงงานแล้ว ยังเป็นพิษต่อสภาพแวดล้อม แมลงผสมเกสร รวมทั้งแมลงที่เป็นประโยชน์น้อยลง ที่สำคัญคือสารนี้สามารถดึงดูดได้ทั้งแมลงวันผลไม้ตัวผู้และตัวเมีย ซึ่งจะช่วยลดอัตราการเข้าทำลายของแมลงวันผลไม้ได้อย่างดี

7.การทำหมันแมลง จุดมุ่งหมายของวิธีการนี้คือ การกำจัดแมลงให้หมดไปจากพื้นที่ที่ต้องการ ซึ่งจะต้องมีการเลี้ยงแมลงวันผลไม้ให้มีปริมาณมาก แล้วทำหมันแมลงเหล่านี้โดยการฉายรังสีแกมมา จากนั้นจึงนำแมลงที่เป็นหมันนี้ไปปล่อยในธรรมชาติ เพื่อลดปริมาณแมลงในธรรมชาติจนหมดไป

8.การกำจัดหนอนแมลงวันผลไม้ในผลไม้หลังการเก็บเกี่ยว ส่วนมากระยะของผลไม้ที่เราเก็บเกี่ยวนั้นอยู่ในระยะแก่จัด ซึ่งอาจมีแมลงวันผลไม้วางไข่อยู่ หรือมีหนอนในวัยต้น ๆ ที่ยังไม่เห็นการทำลายอย่างเด่นชัดแฝงตัวอยู่ ฉะนั้นเพื่อเป็นการกำจัดไข่หรือหนอนที่ติดมาในผลไม้ ซึ่ง มีวิธีการกำจัดดังนี้

8.1 การรมยา โดยการใช้สารรม (Fumigant) บางตัว เข้ามารมแมลง เช่น เมทธิลโบรไมด์ (Methyl Bromide) เป็นต้น

8.2 การใช้รังสี โดยการให้ผลไม้นั้นได้รับการฉายรังสีแกมมา

8.3 การใช้วิธีการอบไอน้ำร้อน เป็นวิธีการที่ใช้อยู่เป็นการค้าในหลาย ๆ ประเทศ