-cultureLIFESTYLE

SACICTเปิดเวที “ผ้าไทยใส่ได้ทุก GEN” ประชันไอเดีย ร่วมสืบสานผ้าไทยก้าวไกลสู่สากล

นายพรพล เอกอรรถพร ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (SACICT) เปิดเผยว่า “SACICT เป็นหน่วยงานหลักในการเผยแพร่ความเป็นไทยสู่สากลผ่านงานศิลปหัตถกรรมเพื่ออนุรักษ์คุณค่า แห่งศิลปาชีพและต่อยอดมูลค่าเชิงพาณิชย์ โดยเฉพะการสืบสานพระราชปณิธานของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในงานด้านศิลปาชีพและงานศิลปหัตถกรรมไทยในแต่ละท้องถิ่น ซึ่งล้วนเป็นความงดงาม อันทรงคุณค่ายิ่งของแผ่นดินไทย เพื่อให้คนไทยทั้งประเทศและในเวทีโลกได้สัมผัสและตระหนักถึงคุณค่าแห่งความเป็นไทย ด้วยการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตและสังคม มีความเป็นสากลและคงอยู่คู่กับการเปลี่ยนแปลงได้อย่างยั่งยืน

ปัจจุบันเทรนด์แฟชั่นจากทั่วทุกมุมโลกกำลังให้ความสนใจในเรื่องของสิ่งแวดล้อม จึงเป็นโอกาสดีในการเผยแพร่ต้นทุนทางวัฒนธรรมผ้าไทยประเภทต่างๆ ซึ่งเป็นวัตถุดิบจากธรรมชาติเข้าสู่ตลาดแฟชั่นระดับโลก ซึ่งการที่จะผลักดันแฟชั่นจากผ้าไทยให้ก้าวไกลสู่ระดับนานาชาติได้นั้น แนวคิด และการสร้างสรรค์ในการออกแบบของดีไซเนอร์เป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยเพิ่มมูลค่าให้งานแฟชั่น ดังนั้น การสนับสนุนหรือเปิดโอกาสให้นักออกแบบรุ่นใหม่ นำผ้าไทยมาออกแบบเพื่อแต่งเติมสีสันลงไปในงานดีไซน์เพื่อให้แฟชั่นที่มีจุดกำเนิดจากผ้าไทยให้สามารถเข้าถึงกลุ่มผู้บริโภคได้ครบทุกเจเนอเรชั่น

“SACICT มุ่งมั่นสื่อสารคุณค่าความเป็นไทยออกสู่สายตาคนไทยและประชาคมโลก โดยผ่านงานหัตถศิลป์ไทย ทั้งการถ่ายทอดองค์ความรู้และภูมิปัญญาสู่คนรุ่นใหม่ การสร้างมูลค่าเพิ่มให้ผลิตภัณฑ์ การนำความคิดสร้างสรรค์ รวมทั้งนวัตกรรมหรือเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในกระบวนการผลิต การบริหารจัดการ และการตลาด เพื่อให้งานหัตถศิลป์ไทยสามารถปรับตัวรับกับการเปลี่ยนของกระแสโลก โดยเฉพาะผ้าไทยซึ่งเป็นผ้าที่ดีที่สุดในโลก เป็นงานแฮนด์เมดที่มีความเป็นอัตลักษณ์ ซึ่งนอกจากการส่งเสริมการนำผ้าไทยมาใช้ในชีวิตประวันแล้ว SACICT ยังร่วมมือกับภาคเอกชนในการนำดีไซเนอร์จากต่างประเทศให้นำผ้าของศิลปาชีพไปใช้ในการออกแบบและตัดเย็บเสื้อผ้าเพื่อให้ผ้าไทยมีความร่วมสมัยและเป็นที่ยอมรับในระดับเวทีโลก” นายพรพล กล่าว

นายพรพล กล่าวเพิ่มเติมว่า SACICT ได้จัดโครงการประกวดผลงานศิลปหัตถกรรมเชิงสร้างสรรค์
(SACICT Award 2020) เพื่อเปิดโอกาสให้บุคคลที่มีความสามารถได้นำเสนอแนวคิดการสร้างสรรค์ผลงานศิลปหัตถกรรม ประเภทแฟชั่นและเครื่องแต่งกาย ในหัวข้อ “ผ้าไทยใส่ได้ทุก GEN” โดยมุ่งเน้นการผสมผสานองค์ความรู้และภูมิปัญญางานศิลปหัตถกรรมไทยเข้ากับทักษะการออกแบบแฟชั่นและเครื่องแต่งกายผ้าไทยในรูปแบบหัตถกรรมร่วมสมัยให้สอดรับกับวิถีชีวิตในปัจจุบัน และนำไปสู่การเชื่อมโยงผลงานสู่ภาคอุตสาหกรรมแฟชั่น ทั้งในระดับประเทศและระดับสากล ตลอดจนช่วยเพิ่มมูลค่าและคุณค่าให้ผ้าศิลปาชีพ รวมทั้งผ้าไทยทอมือประเภทต่างๆ

SACICT Award 2020 ในหัวข้อ “ผ้าไทยใส่ได้ทุก GEN” แบ่งการประกวดออกเป็น 5 ประเภท ประกอบด้วย 1.ประเภทชุด Finale 2.ประเภทชุดสำหรับยุค Baby Boomer Generation 3.ประเภทชุดสำหรับยุค Generation X 4.ประเภทชุดสำหรับยุค Generation Y และ 5.ประเภทชุดสำหรับยุค Generation Z โดยมุ่งเน้นการนำเสนอจุดเด่นและคุณค่าของผ้าศิลปาชีพและผ้าไทยทอมือประเภทต่างๆ มาใช้เป็นวัสดุหรือวัตถุดิบหลักในการนำเสนอแนวคิดการออกแบบแฟชั่นและเครื่องแต่งกายให้มีความโดดเด่น ประณีต งดงาม คงความเป็นเอกลักษณ์ และสามารถสวมใส่ได้อย่างร่วมสมัย เพื่อชิงเงินรางวัล มูลค่ารวมกว่า 700,000 บาท พร้อมโล่เกียรติยศ

การประกวด “ผ้าไทยใส่ได้ทุก GEN” เปิดรับสมัครผู้เข้าร่วมประชันไอเดียทั้งประเภทประชาชนทั่วไป ที่มีสัญชาติไทย อายุ 18 ปีขึ้นไป และประเภทนิสิต นักศึกษา ที่กำลังศึกษาอยู่ในระดับปริญญาตรี สามารถส่งผลงานเข้าร่วมประกวดได้ทั้งประเภทเดี่ยวและประเภททีม ทีมละไม่เกิน 3 คน โดยคณะกรรมการจะคัดเลือกผลงานจากแบบร่างประเภทละ 10 ผลงาน รวม 50 ผลงาน พร้อมทั้งสนับสนุนเงินทุนในการตัดเย็บชุดจริงเพื่อให้นางแบบ 50 คนได้นำเสนอบนรันเวย์ในการประกวดรอบชิงชนะเลิศ ซึ่งจะจัดขึ้นภายในเดือนกันยายน 2563 ณ ศูนย์ศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชน) อำเภอบางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

“การจัดการประกวดผ้าไทยใส่ได้ทุก GEN นับเป็นก้าวแรกในการพยายามเชื่อมคนรุ่นใหม่ให้หันมาสนใจเรื่องผ้าไทย ผู้ที่มีใจรักการออกแบบก็จะมาดีไซน์เสื้อผ้าในสไตล์ของตนเองโดยใช้ผ้าไทยเป็นหลัก นับเป็นการจุดประกายไอเดียใหม่ๆ กระตุ้นความสนใจและสร้างแรงบันดาลใจให้คนรุ่นใหม่ๆ หันมาสนใจผ้าไทย เนื่องจากที่ผ่านมาแม้ว่าการจัดประกวดผ้าไทยมีหลากหลายรูปแบบก็จริง แต่การจัดประกวดผ้าไทยใส่ได้ทุก GEN นี้ถือเป็นครั้งแรกในประเทศไทย และเมื่อการประกวดเสร็จสิ้นก็จะมีแผนงานที่เป็นยุทธศาสตร์ในการดำเนินงานเพื่อส่งเสริม และสนับสนุนการนำผ้าไทยมาใช้ร่วมสมัยอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะก่อให้เกิดการสร้างงานให้ชาวบ้านในชุมชนมีรายได้และเศรษฐกิจไทยหมุนเวียนทั่วประเทศอีกด้วย” นายพรพล กล่าว

ผู้สนใจส่งผลงานเข้าประกวดสามารถดาวน์โหลดใบสมัคร และรายละเอียดการส่งผลงานเข้าประกวดได้ที่ www.sacict.or.th หรือไลน์แอด : SACICTAWARD หรือ โทร. 096 638 7602, 097 032 3082 กำหนดส่งใบสมัครและแบบร่างผลงานได้ตั้งแต่วันนี้ – 23 สิงหาคม 2563