-ข่าวพระราชสำนัก

องคมนตรี ติดตามและขับเคลื่อนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ในพื้นที่จังหวัดลำพูน

ลำพูน (23 กรกฎาคม 2563) นายพลากร สุวรรณรัฐ องคมนตรี ประธานอนุกรรมการติดตามและขับเคลื่อนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในพื้นที่ภาคเหนือ พร้อมคณะที่ปรึกษา เดินทางไปติดตามและขับเคลื่อนโครงการอ่างเก็บน้ำบ้านป่าตึงงาม (ห้วยกอลุง) พร้อมระบบส่งน้ำอันเนื่องมาจากพระราชดำริ และโครงการอ่างเก็บน้ำห้วยป่ากล้วยพร้อมระบบส่งน้ำอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ซึ่งเป็นโครงการที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ รับเป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริเมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2557

ช่วงเช้า องคมนตรี และคณะ เดินทางลงพื้นที่โครงการอ่างเก็บน้ำบ้านป่าตึงงาม (ห้วยกอลุง) พร้อมระบบส่งน้ำอันเนื่องมาจากพระราชดำริ บ้านป่าตึงงาม หมู่ที่ 3 ตำบลตะเคียนปม อำเภอทุ่งหัวช้าง จังหวัดลำพูน เพื่อรับฟังบรรยายสรุปสภาพพื้นที่ การดำเนินงาน และประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นกับโครงการฯ ทั้ง 2 โครงการ ฯ โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (กปร.) ในปี 2561 ซึ่งปัจจุบันโครงการอ่างเก็บน้ำบ้านป่าตึงงามฯ อยู่ระหว่างการก่อสร้างเขื่อนดิน ที่มีขนาดความจุเก็บกัก 750,000 ลูกบาศก์เมตร พร้อมอาคารท่อส่งน้ำและอาคารระบายน้ำล้น มีผลการดำเนินงานประมาณร้อยละ 40 และคาดว่าการก่อสร้างจะแล้วเสร็จภายในเดือนกันยายน 2563 นี้ เมื่อการก่อสร้างแล้วเสร็จจะทำให้พื้นที่บ้านป่าก่อและพื้นที่ใกล้เคียง จำนวน 1,100 ไร่ ราษฎรจำนวน 342 ครัวเรือน มีแหล่งน้ำเพื่อการอุปโภค บริโภค และการประปาหมู่บ้าน อีกทั้งจะเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ปลาเพื่อสร้างแหล่งอาหารโปรตีน ซึ่งจะทำให้ราษฎรมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น จากนั้น องคมนตรีและคณะได้เยี่ยมชมผลการดำเนินงานการก่อสร้างโครงการฯ โอกาสนี้ ได้ปลูกต้นรวงผึ้งบริเวณโครงการฯ

ช่วงบ่าย องคมนตรีและคณะ เดินทางไปยังโครงการอ่างเก็บน้ำห้วยป่ากล้วยพร้อมระบบส่งน้ำอันเนื่องมาจากพระราชดำริ บ้านป้าก่อ หมู่ที่ 10 ตำบลตะเคียนปม อำเภอทุ่งหัวช้าง จังหวัดลำพูน เพื่อติดตามเยี่ยมชมผลสำเร็จของโครงการฯ ซึ่งมีลักษณะเป็นเขื่อนดิน ยาว 96 เมตร สูง 27 เมตร มีขนาดความจุที่ระดับเก็บกัก 300,000 ลูกบาศก์เมตร พร้อมอาคารระบายน้ำล้น โดยโครงการดังกล่าว สามารถส่งน้ำให้กับพื้นที่การเกษตรบ้านป่าก่อและพื้นที่ใกล้เคียง จำนวน 700 ไร่ และเป็นแหล่งน้ำเพื่อการอุปโภค บริโภค ให้แก่ราษฎรบ้านป่าก่อประมาณ 225 ครัวเรือน หลังจากที่โครงการดังกล่าวได้ถือกำเนิดขึ้นจากพระมหากรุณาธิคุณ ทำให้ชาวบ้านมีการเปลี่ยนแปลงการเพาะปลูกจากพืชที่ใช้น้ำน้อย เช่น ข้าวโพด มันฝรั่ง ถั่วแระ เปลี่ยนเป็นพืชเศรษฐกิจ เช่น ลำไย มะม่วง กล้วย ทำให้มีผลผลิตและรายได้เพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้ชาวบ้านมีชีวิตความเป็นอยู่ที่มั่นคงยิ่งขึ้น

โอกาสนี้ องคมนตรี ได้พบปะเยี่ยมราษฎร พร้อมกับกล่าวถึงการใช้ประโยชน์จากอ่างเก็บน้ำโดยขอให้ทุกคนร่วมมือกันในการที่ดูแลพื้นที่ป่าซึ่งเป็นแหล่งต้นน้ำ ที่จะสร้างความชุ่มชื้นให้กับพื้นที่ และจะเป็นแหล่งน้ำต้นทุนให้กับอ่างเก็บน้ำห้วยป่ากล้วยฯ ต่อไป