-ข่าวพระราชสำนัก

องคมนตรี เชิญสิ่งของพระราชทาน และเยี่ยมผู้ปฏิบัติงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ

เชียงใหม่( 9 กรกฎาคม 2563) นายพลากร สุวรรณรัฐ องคมนตรี ประธานอนุกรรมการติดตามและขับเคลื่อนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในพื้นที่ภาคเหนือ พร้อมคณะที่ปรึกษา เดินทางไปยังกองร้อยตำรวจตระเวนชายแดนที่ 334 อำเภอแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อเชิญสิ่งของพระราชทานไปมอบแก่ผู้แทนตำรวจตระเวนชายแดนกองร้อยตำรวจตระเวนชายแดนที่ 334 จำนวน 20 ถุงและมอบให้แก่ผู้แทนทหาร กองบังคับการควบคุมทหารพรานศูนย์ปฏิบัติการกองทัพภาคที่ 3 จำนวน 20 ถุง เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจกับทหาร และตำรวจ ผู้ทำหน้าที่พิทักษ์ ปกปักดูแลป้องกันรักษาความมั่นคงให้แก่ประชาชนและประเทศชาติให้มีความสงบร่มเย็นมาโดยตลอด

จากนั้น ในช่วงบ่าย องคมนตรีและคณะ ได้เดินทางไปยังสถานีพัฒนาการเกษตรที่สูงตามพระราชดำริห้วยเมืองงาม อำเภอแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อเชิญสิ่งของพระราชทานไปมอบแก่ผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่ จำนวน 5 โครงการ ได้แก่ สถานีพัฒนาการเกษตรที่สูงตามพระราชดำริห้วยเมืองงาม , สถานีพัฒนาการเกษตรที่สูงตามพระราชดำริดอยม่อนล้าน , โครงการพัฒนาพื้นที่ห้วยลานอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ,โครงการฟื้นฟูสภาพป่าไม้อำเภอเชียงดาว-ไชยปราการ (ห้วยจะค่าน) และโครงการบ้านเล็กในป่าใหญ่ตามพระราชดำริดอยฟ้าห่มปก จังหวัดเชียงใหม่ รวมจำนวนทั้งสิ้น 566 ถุง โอกาสนี้องคมนตรีและคณะได้รับฟังการบรรยายสรุปผลการดำเนินของสถานีพัฒนาการเกษตรที่สูงตามพระราชดำริห้วยเมืองงาม ซึ่งจัดตั้งขึ้นตามพระราชดำริในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เพื่อพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของราษฎรในพื้นที่ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวไทยภูเขาเผ่าลีซอ เผ่าอาข่า และเผ่ามูเซอ ควบคู่ไปกับการฟื้นฟูสภาพป่าที่ถูกทำลายรวมทั้งการสร้างจิตสำนึกในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติให้กับราษฎร

สถานีพัฒนาการเกษตรที่สูงตามพระราชดำริห้วยเมืองงาม ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (กปร.) มาอย่างต่อเนื่องส่งผลให้สามารถฟื้นฟูสภาพป่าที่เคยถูกทำลายกลับมาสมบูรณ์ เกิดความหลากหลายทางชีวภาพ ก่อเกิดความชุ่มชื้นตลอดทั้งปี ดังจะเห็นได้จาก มอส เฟิร์นต่าง ๆ ทั้งสัตว์ป่าและนกนานาชนิดที่พบเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมากขึ้น นอกจากนี้ยังพบสัตว์หายาก อาทิ เต่าปูลู กะท่างน้ำ และจิ้งเหลนห้วยท้องแดงซึ่งชอบอยู่ในลำห้วยที่มีน้ำไหล ใสสะอาด อากาศเย็นตลอดปี เป็นต้น นับเป็นตัวชี้วัดของความอุดมสมบูรณ์ที่เกิดขึ้นในพื้นที่แห่งนี้

ไม่เพียงเท่านั้น พื้นที่แห่งนี้ยังเป็นแหล่งต้นน้ำที่สำคัญของอำเภอแม่อาย หล่อเลี้ยงชีวิตให้แก่ราษฎรพื้นที่ด้านล่างกว่า 4,000 ครอบครัว จากการพัฒนาคุณภาพชีวิตของราษฎร ในลักษณะคนอยู่ร่วมกับป่าได้อย่างยั่งยืน ได้ส่งเสริมให้ราษฎรมาทำงานในโครงการและนำความรู้ด้านการเกษตรที่ถูกต้องตามหลักวิชาการและจากการปฎิบัติจริงด้วยตนเองและนำความรู้ไปปรับใช้ในการประกอบอาชีพ เช่น การปลูกผักคะน้าฮ่องเต้ ชาเชียงดา และเมล่อน นอกจากนี้ราษฎรได้รวมกลุ่มทำอาชีพเสริม ได้แก่ ตีมีด จักสานตะกร้า, กระเป๋า , ย่าม , ผ้าปักชาวเขา ซึ่งกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช จัดหาตลาดและส่งจำหน่ายที่ร้านร้อยใจรัก เพื่อสร้างรายได้เสริมให้แก่ตนเองและครอบครัว ส่งผลให้ราษฎรมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ลดผลกระทบจากปัญหายาเสพติดและสิ่งผิดกฎหมายในพื้นที่ได้หมดไป

จากการดำเนินงานในสถานีพัฒนาการเกษตรที่สูงตามพระราชดำริห้วยเมืองงาม ทำให้ราษฎรต่างสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณและได้ร่วมกันสนองพระราชดำริในการปกป้องดูแลพื้นที่ป่าให้มีความอุดมสมบูรณ์เป็นมรดกให้แก่ลูกหลานต่อไป