-รอบกรุง

อย.ถกผู้เชี่ยวชาญ พัฒนาแนวทางส่งเสริมการตลาดดิจิทัลผลิตภัณฑ์สมุนไพร

ในระยะเวลาอันใกล้นี้ การตลาดดิจิทัล (Digital Marketing) จะกลายมาเป็นทั้ง “เครื่องมือ” และ “ช่องทางหลัก” ในการเชื่อมต่อสินค้าและบริการจากผู้ประกอบการไปยังผู้บริโภค

การตลาดดิจิทัลจะเป็นตัวแปรสำคัญต่อ “ความอยู่รอด” ของธุรกิจแทบทุกแขนง โดยเฉพาะในยุค New Normal ที่เร่งเร้าให้ผู้คนปรับเปลี่ยนพฤติกรรมไปพึ่งพาโลกออนไลน์มากยิ่งขึ้น

“ผลิตภัณฑ์สมุนไพร” เป็นหนึ่งในประเภทสินค้าที่ได้รับความนิยมสูงในการซื้อขายผ่านคลังสินค้าออนไลน์ (Marketplace) ซึ่งถือเป็นโอกาสดีของผู้ประกอบการทั่วโลกที่จะทำกำไร

อย่างไรก็ดี สำหรับประเทศไทย เดิมมีข้อจำกัดด้านกฎระเบียบที่เข้มงวด

ดังนั้นเพื่อปลดล็อคข้อจำกัด กองผลิตภัณฑ์สมุนไพร สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ซึ่งมีภารกิจในการส่งเสริมผู้ประกอบการควบคู่ไปกับการคุ้มครองผู้บริโภค จึงได้จัด การประชุมระดมสมองแนวทางการตลาดดิจิทัลผลิตภัณฑ์สมุนไพร เมื่อวันที่ 10 มิ.ย. 2563 ที่ผ่านมา เพื่อกำหนดทิศทางการพัฒนากฎระเบียบและระบบการกำกับดูแลผลิตภัณฑ์สมุนไพร ให้เหมาะสมกับบริบทการตลาดดิจิทัล ซึ่งการประชุมดังกล่าว เป็นการแลกเปลี่ยนมุมมองของผู้เชี่ยวชาญผ่านกระบวนการคิดเชิงออกแบบ หรือ Design Thinking อันเป็นกระบวนการคิดเชิงระบบ ที่ใช้ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องเป็นศูนย์กลาง

ภก.วราวุธ เสริมสินสิริ ผู้อำนวยการกองผลิตภัณฑ์สมุนไพร เริ่มต้นจากประเด็นที่ว่า “เมื่อ อย. อนุมัติให้ผลิตภัณฑ์สมุนไพรออกสู่ตลาดแล้ว การทำการตลาดดิจิทัลจะถูกควบคุมกำกับการโฆษณา และ เงื่อนไขการจำหน่าย โดยจะต้องจำหน่ายผ่านผู้ประกอบวิชาชีพหรือไม่ ซึ่ง อย. ต้องออกแบบกฎระเบียบ ให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด บนฐานของการเอื้อให้สามารถทำการตลาดดิจิทัลได้ด้วย” ภก.วราวุธ ระบุ

จากนั้น ภญ.ดร.อโณทัย งามวิชัยกิจ อาจารย์ประจําวิชาเอกการตลาด สาขาวิชาวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ผู้นำกระบวนการระดมสมองร่วมกับผู้เชี่ยวชาญ ภก.สมชาย ปรีชาทวีกิจ ที่ปรึกษาสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ดร.มยุรี ศรีกุลวงศ์ อาจารย์ประจำคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ภก.ดร.นพดล อัจจิมาธีระ จาก Thai Self-Medication Industry Association (TSMIA) และ ผู้แทนภาคเอกชน ได้ระดมสมองพัฒนาข้อเสนอ แนวทางในการออกแบบกฎระเบียบในการกำกับดูแล และมาตรการสำคัญ เพื่อส่งเสริมการตลาดดิจิทัลผลิตภัณฑ์สมุนไพร เช่น ควรเปิดโอกาสให้ ร้านขายผลิตภัณฑ์สมุนไพรมี “ร้านออนไลน์” ซื้อขาย และให้คำแนะนำโดยผู้มีหน้าที่ปฏิบัติการที่มีความรู้ ความสามารถผ่านระบบออนไลน์ ได้

นอกจากนั้นควรพัฒนา “ระบบการยื่นขอและให้อนุญาตแบบอิเล็กทรอนิกส์” สำหรับการขออนุญาตโฆษณาผลิตภัณฑ์สมุนไพรที่ปรากฏใน Marketplace คลังสินค้าบนโลกออนไลน์ สื่อกลางสำหรับการติดต่อซื้อขายผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต เพื่อความรวดเร็ว อำนวยความสะดวก

ที่สำคัญควรสนับสนุนให้มีระบบการควบคุมกันเองในเครือข่ายการประกอบการ [Self regulation] รวมทั้งให้ เจ้าของ Marketplace ต้องเข้ามาร่วมรับผิดชอบต่อความถูกต้องของผลิตภัณฑ์สมุนไพรและการโฆษณาด้วย

อย่างไรก็ดี ต้องสร้างสภาวะแวดล้อมต่างๆ ให้เหมาะสมกับ การตลาดดิจิทัลของผลิตภัณฑ์สมุนไพรที่เป็นธรรมกับผู้บริโภค เช่น การพัฒนาศูนย์ข้อมูลผลิตภัณฑ์สมุนไพร การพัฒนาผู้ประกอบการด้านสื่อและการตลาดดิจิทัลให้เข้าใจกฎระเบียบผ่านระบบ E-learning รวมทั้ง การพัฒนาระบบการรับรอง Marketplace ที่มีการดูแลสินค้าและการโฆษณาที่ดี เป็นต้น
#กองผลิตภัณฑ์สมุนไพร
#สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา
#โฆษณา
#การตลาดดิจิทัล
#ผู้บริโภคปลอดภัย_ผลิตภัณฑ์สมุนไพรสู่สากล