-Healthy

สถาบันมะเร็งแห่งชาติ ยืนยันข่าวจริง! “WHO ฟันธง กินเนื้อแดงและอาหารแปรรูป เสี่ยงมะเร็งลำไส้ใหญ่”

ตามที่มีข่าวปรากฏตามสื่อต่างๆ เกี่ยวกับประเด็น “WHO ฟันธง การรับประทานเนื้อแดงและอาหารแปรรูป เสี่ยงมะเร็งลำไส้ใหญ่” นั้น กรมการแพทย์ โดย สถาบันมะเร็งแห่งชาติ ได้ตรวจสอบข้อมูลวิชาการพบข้อเท็จจริง คือ องค์กรวิจัยมะเร็งนานาชาติ หรือ International Agency for Research on Cancer (IARC) ซึ่งเป็นหน่วยงานภายใต้องค์การอนามัยโลก (WHO) จัดให้ เนื้อสัตว์แปรรูปเป็นสารก่อมะเร็งกลุ่ม 1 คือ สามารถก่อมะเร็งในมนุษย์ ส่วนเนื้อแดง เป็นกลุ่ม 2A คือ อาจจะก่อมะเร็งในมนุษย์

นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า เนื้อสัตว์แปรรูป คือ เนื้อที่ผ่านการคลุกเกลือ หมัก บ่ม รมควัน และวิธีอื่น ๆ ที่เพิ่มรสชาติหรือถนอมอาหารให้ดีขึ้น เช่น แฮม ไส้กรอก กุนเชียง หมูยอ โดยการบริโภคเนื้อแปรรูปที่มากขึ้นและเป็นประจำ จะเพิ่มความเสี่ยงการเป็นมะเร็งลำไส้และไส้ตรงได้ ส่วนเนื้อแดงของสัตว์ต่าง ๆ เช่น เนื้อวัว หมู แกะ หมูป่า ม้า และแพะ เป็นต้น มีรายงานจาก IARC ที่ระบุว่า การกินเนื้อแดงมีความสัมพันธ์กับการเพิ่มความเสี่ยงการเป็นมะเร็งลำไส้และไส้ตรง

นายแพทย์จินดา โรจนเมธินทร์ ผู้อำนวยการสถาบันมะเร็งแห่งชาติ กล่าวเสริมว่า เนื้อสัตว์แปรรูป จัดอยู่ในสารก่อมะเร็งกลุ่ม 1 คือ สามารถก่อมะเร็งในมนุษย์ ซึ่งเป็นกลุ่มเดียวกันกับ บุหรี่ แอลกอฮอล์ แร่ใยหิน สารหนู เป็นต้น อย่างไรก็ตาม เนื้อสัตว์แปรรูปก็ไม่ได้มีอันตรายมากเท่าสารเหล่านี้ ดังนั้น ประชาชนจึงสามารถรับประทานเนื้อสัตว์ แปรรูปได้ แต่สิ่งสำคัญคือให้จำกัดปริมาณการรับประทานและเนื้อแดงก็เช่นเดียวกัน เพราะเนื้อแดงมีคุณค่าทางโภชนาการและมีสารอาหารต่าง ๆ อาทิ โปรตีน สังกะสี เหล็กและวิตามินบี 12 ดังนั้น จึงไม่ควรงดรับประทานเนื้อแดง แต่ควรรับประทานในปริมาณที่เหมาะสม ซึ่งกองทุนวิจัยมะเร็งโลกแนะนำว่าควรรับประทานเนื้อแดงไม่เกิน 500 กรัม ต่อสัปดาห์ และรับประทานโปรตีนจากแหล่งอื่นเพิ่มเติม เช่น ไข่ เต้าหู้และถั่ว รวมทั้งการบริโภคอาหารให้มีความหลากหลาย