-environmentLIFESTYLE

“เชอรี่-เข็มอัปสร” ชวนส่งพลาสติกกลับบ้าน คัดแยกขยะ “ยืด”กับ“แข็ง”

นักแสดงสาวสุดสวยของช่อง 3 “เชอรี่-เข็มอัปสร สิริสุขะ” ได้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการดี ๆ อย่าง “ส่งพลาสติกกลับบ้าน” เป็นโครงการที่ เครือข่ายเพื่อความยั่งยืนแห่งประเทศไทย (TRBN) จับมือกับ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) พร้อมด้วย สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์ และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ก.ล.ต.) รวมไปถึง ภาคีภาคเอกชน ซึ่งรวมเป็นภาคี 24 องค์กรด้วยกัน โดยเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 28 พฤษภาคม 2563 ที่ผ่านมา สาว “เชอรี่-เข็มอัปสร” ได้นำขยะพลาสติก “ยืด” กับ “แข็ง” ที่ทำความสะอาดเสร็จเรียบร้อย นำไปไว้ที่จุดรับพลาสติกสะอาด Plastic Drop point ณ EmQuartier

สาว “เชอรี่-เข็มอัปสร” ยังออกมาเชิญชวนให้ประชาชนทุกคนมาช่วยกันแยกขยะแบบง่าย ๆ แค่ “ยืด” กับ “แข็ง” “ซึ่ง ยืด ก็คือพลาสติกที่ค่อนข้างมีความอ่อนอย่างพวกถุงแกง หรือถุงหิ้วที่มันมีความจับไปแล้วมันยืดหยุ่นได้ ส่วนพลาสติก แข็ง ก็จะเป็นพวกบรรจุภัณฑ์ที่ใส่อาหารเป็น กล่องอาหาร ฝา ขวดน้ำ เป็นต้น และก่อนเราจะนำขยะมาฝากที่จุด Drop point เราควรจะทำความสะอาดพลาสติกก่อน เช่น พอเทอาหารออกเสร็จแล้ว จริง ๆ ถ้าล้างเลยมันจะล้างได้ง่ายหน่อย เพราะว่ามันจะไม่มีคราบติดเท่าไร ล้างพอเอาแค่ให้มันไม่เลอะเทอะ และอีกอย่างหนึ่งมันทำให้ขยะที่เรานำมาทิ้งไม่บูดเน่าค่ะ เพราะว่าถ้ามันบูดเน่า การจะนำมารีไซเคิลได้นั้น มันจะมีเปอร์เซ็นต์ที่ลดน้อยลง ก็อยากให้หลาย ๆ คน ที่มีขยะพลาสติกอยู่ที่บ้าน อยากให้ลองดูมันไม่ได้ยากเลย ลองแยกดูแล้วก็ถ้ามีโอกาสขับรถผ่านไปแถวจุด Drop Point ตรงไหน ก็ลองเอาไป Drop ดูนะคะ และถ้าโครงการนำร่องนี้ได้การตอบรับที่ดี เชอรี่เชื่อว่ามันจะมีโครงการแบบนี้ ๆ ตามมา อีกบนถนนหลายเส้นเลย และเชอรี่ก็เชื่ออีกว่าองค์กรที่มาร่วมจะไม่ใช่แค่ 24 องค์กรนี้แล้ว คงจะมีองค์กรอีกมากมายที่เข้ามาร่วมมันอาจจะเป็นในระดับจังหวัด ระดับภูมิภาค หรือเป็นระดับประเทศเราได้เลยค่ะ”

โครงการ “ส่งพลาสติกกลับบ้าน” เกิดขึ้นเนื่องจากปัจจุบันโลกได้เผชิญกับสถานการณ์เชื้อไวรัสโควิด-19 ระบาย ทำให้ประชาชนทุกคนต้องกักตัวอยู่ที่บ้าน หรือทำงานอยู่ที่บ้าน เพื่อลดความเสี่ยงในการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสโควิด-19 ทำให้มีปริมาณขยะพลาสติกจากบริการเดลิเวอรี่เพิ่มขึ้น 15 % ขณะที่ขยะอาหารและขยะติดเชื้อจากการใช้หน้ากากอนามัยก็เพิ่มมากขึ้นเช่นกัน ดังนั้นจึงต้องมีโครงการ

“ส่งพลาสติกกลับบ้าน” เพื่อจะได้มีการจัดการกับขยะพลาสติกที่ดี โดยการเข้าสู่ขั้นตอนการรีไซเคิล ไปจนถึงอัพไซเคิล โครงการนี้ได้เริ่มต้นนำร่องใช้จริงแล้ว ด้วยการตั้งจุดรับพลาสติก “ยืด” กับ “แข็ง” ที่ทำความสะอาดเรียบร้อยก่อนนำไปไว้ที่จุด Drop point ซึ่งมีจำนวน 10 จุด ได้แก่ Singha Complex, Emporium, EmQuartier, A Square, Bambini Villa, Broccoli Revolution, Tesco Lotus Sukhumvit 50, The Commons, CP Fresh Mart Phetchaburi 38/1 (Sukhumvit 39) และ Veggiology ประชาชนสามารถเลือกจุด Drop point ได้ตามที่ตนสะดวกเลย สามารถติดตามได้โครงการดี ๆ แบบนี้ ได้ทาง Facebook ของโครงการ “ส่งพลาสติกกลับบ้าน” หรือว่าติดตามข้อมูลข่าวสารได้ทางช่อง 3 กด 33