-Healthy

พายุฤดูร้อนกำลังมา!พึงรู้ไว้ 4ข้อป้องกันอันตรายจากการถูกฟ้าผ่า

นนทบุรี (4 มีนาคม 2563) นายแพทย์อัษฎางค์ รวยอาจิณ รองอธิบดีและโฆษกกรมควบคุมโรค กล่าวว่า จากรายงานกรมอุตุนิยมวิทยา พบว่าช่วงนี้ในหลายพื้นที่ของประเทศไทย จะมีอากาศร้อน และจะมีพายุฤดูร้อนเกิดขึ้น ซึ่งมีลักษณะเป็นพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง และลูกเห็บตกบางพื้นที่ นั้น กรมควบคุมโรค ขอให้ประชาชนระมัดระวังขณะเกิดฝนตกและลมกระโชกแรง ไม่ควรอยู่ใกล้ต้นไม้ใหญ่ เสาไฟฟ้า และป้ายโฆษณาต่างๆ เพราะอาจเกิดการหักโค่นหรือหล่นทับ ทำให้ได้รับบาดเจ็บหรืออาจเสียชีวิตได้ และในขณะฝนตกฟ้าคะนอง ไม่ควรออกนอกบ้าน ซึ่งอาจเสี่ยงโดนฟ้าผ่าได้ สำหรับเกษตรกรควรเตรียมการป้องกันและระวังความเสียหายที่จะเกิดต่อผลผลิตทางการเกษตรไว้ด้วย

การเตรียมความพร้อมรับมือกับลมพายุ นั้น หากประชาชนอยู่ในบริเวณพื้นที่เสี่ยง ควรรีบเคลื่อนย้ายไปอยู่ในพื้นที่ปลอดภัย นอกจากนี้ ควรจัดเตรียมไฟฉาย ตลอดจนยารักษาโรคให้พร้อม โดยในช่วงฝนตกหนักและมีลมพายุ ขอให้ประชาชนหลีกเลี่ยงอยู่กลางแจ้ง ไม่อยู่ใกล้ต้นไม้สูง เสาไฟฟ้า ป้ายโฆษณา ควรหลบในตัวอาคารที่มีความมั่นคง ไม่ควรใช้โทรศัพท์ และหลีกเลี่ยงการใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าทุกชนิดในขณะที่ฟ้าร้องฟ้าผ่า

ทั้งนี้ ขอแนะนำประชาชนป้องกันอันตรายจากการถูกฟ้าผ่า ดังนี้

1.ห้ามอยู่ใกล้หรือใช้อุปกรณ์ที่เป็นสื่อนำไฟฟ้า เช่น เครื่องมือการเกษตร และโทรศัพท์สาธารณะ เพราะอุปกรณ์เหล่านี้มีส่วนประกอบที่เป็นแผ่นโลหะ ซึ่งเป็นสื่อนำไฟฟ้า 2.ควรหลบในอาคารที่ติดตั้งสายล่อฟ้า จะช่วยป้องกันอันตรายจากฟ้าผ่าได้ และไม่ควรใช้โทรศัพท์ เล่นอินเตอร์เน็ต หรืออยู่ใกล้ประตูหน้าต่างที่มีส่วนประกอบเป็นโลหะในขณะฟ้าร้อง ฟ้าผ่า 3.หลีกเลี่ยงการใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าทุกชนิด เพราะกระแสไฟจากฟ้าผ่าอาจไหลผ่านเครื่องใช้ไฟฟ้า ทำให้เครื่องใช้ไฟฟ้าเสียหาย และ 4.กรณีอยู่ในรถ ควรปิดกระจกทุกบาน หากฟ้าผ่าลงรถควรตั้งสติ ไม่ควรออกจากรถโดยเด็ดขาด เพราะกระแสไฟฟ้าที่ไหลตามผิวโลหะของตัวถังรถจะไหลลงสู่พื้นดิน หากออกนอกรถจะมีความเสี่ยงที่จะถูกฟ้าผ่าสูง ที่สำคัญอย่าสัมผัสส่วนที่เป็นโลหะ

นายแพทย์อัษฎางค์ กล่าวต่อไปว่า สำหรับการช่วยเหลือผู้ถูกฟ้าผ่าและผู้ประสบอุบัติเหตุ ต้องช่วยอย่างรวดเร็ว โดยประเมินสถานการณ์ความปลอดภัยของที่เกิดเหตุ และโทรขอความช่วยเหลือจากศูนย์บริการการแพทย์ฉุกเฉิน เบอร์ 1669 พร้อมแจ้งข้อมูลผู้ประสบอุบัติเหตุ และสถานที่เกิดเหตุ ประเมินการหายใจและการเต้นของหัวใจ ถ้าไม่หายใจและหัวใจหยุดเต้น ให้รีบช่วยชีวิตทันที โดยการกดหน้าอกในตำแหน่งกึ่งกลางหน้าอก (กึ่งกลางหัวนมทั้ง 2 ข้าง) ให้ได้ประมาณ 100 ครั้งต่อนาที ลึกลงไปอย่างน้อย 1 ใน 3 ของความหนาหน้าอก จนกว่าหัวใจจะเต้น หรือสามารถคลำชีพจรได้ หรือจนกว่าจะมีหน่วยบริการการแพทย์ฉุกเฉินมาช่วย แล้วรีบนำส่งโรงพยาบาลทันที สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422