-ข่าวพระราชสำนัก

องคมนตรีติดตามการดำเนินงานการป้องกันน้ำท่วมบริเวณพื้นที่ฝั่งตะวันออกตามแนวพระราชดำริ

สมุทรปราการ (11 ธันวาคม 2563) เมื่อเวลา 09.00 น. พลอากาศเอก จอม รุ่งสว่าง องคมนตรี รองประธานอนุกรรมการติดตามและขับเคลื่อนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในพื้นที่ภาคกลาง พร้อมด้วย นายลลิต ถนอมสิงห์ รองเลขาธิการ กปร. และคณะอนุกรรมการฯ ผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ติดตามการแก้ไขและป้องกันน้ำท่วม บริเวณพื้นที่ฝั่งตะวันออกตามพระราชดำริ จำนวน 2 โครงการ ประกอบด้วย โครงการระบายน้ำบริเวณรอบสนามบินสุวรรณภูมิอันเนื่องมาจากพระราชดำริ อำเภอเมืองสมุทรปราการ จังหวัดสมุทรปราการ และโครงการคลองลัดโพธิ์อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตำบลทรงคะนอง อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ

โอกาสนี้ได้รับฟังรายงานความก้าวหน้าในการติดตามและขับเคลื่อนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในพื้นที่ภาคกลาง การบรรยายสรุปสถานการณ์น้ำ และการบริหารจัดการน้ำฝั่งตะวันออก รวมถึงพระราชดำริการดำเนินงานและผลสัมฤทธิ์จากโครงการระบายน้ำบริเวณรอบสนามบินสุวรรณภูมิอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จากผู้แทนกรมชลประทาน

โครงการระบายน้ำบริเวณรอบสนามบินสุวรรณภูมิอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เกิดขึ้นสืบเนื่องจากประสบปัญหาอุทกภัยครั้งสำคัญในหลายพื้นที่ของประเทศไทย รวมทั้งกรุงเทพมหานคร ที่ได้รับผลกระทบจากพายุพัดผ่าน ส่งผลชีวิต ทรัพย์สิน และเศรษฐกิจของประเทศเสียหายอย่างมาก พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงห่วงใยและทรงตระหนักถึงความเดือดร้อนของประชาน จึงพระราชทานพระราชดำริเกี่ยวกับ การแก้ไขและบรรเทาปัญหา ตลอดรวมถึงการบริหารจัดการน้ำท่วมในหลายพื้นที่โดยเฉพาะพื้นที่ฝั่งตะวันออกซึ่งเป็นพื้นที่ที่จะต้องรองรับน้ำระบายออกสู่ทะเล

โดยเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2546 ได้พระราชทานพระราชดำริ สรุปความว่า ให้คำนวณบริหารจัดการน้ำโดยหลีกเลี่ยงการระบายน้ำผ่านเขื่อนเจ้าพระยา และให้พิจารณาระบายน้ำออกทางด้านข้าง เช่น ฝั่งแม่น้ำตะวันออกระบายน้ำลงสู่ทะเล โดยผ่านทางคลองระพีพัฒน์ ปล่อยตรงไปยังคลอง 14 ลงสู่คลองแสนแสบ แล้วระบายน้ำออกไปทางแม่น้ำบางปะกง และคลองพระองค์ไชยานุชิต ส่วนฝั่งตะวันตกให้ระบายไปทางแม่น้ำสุพรรณบุรีเป็นระยะ ๆ โดยพิจารณาจากน้ำขึ้น น้ำลง ของกรมอุทกศาสตร์ อีกทั้งไม่ให้ระบายน้ำผ่านเข้าพื้นที่กรุงเทพมหานคร ให้เร่งระบายน้ำลงสู่ทะเลโดยเร็ว ระบายไปลงตรงปลายคลองพระองค์ไชยานุชิต และเนื่องจากคลองประเวศน์ ไปถึงทะเลมีความลาดเทน้อยก็อาจทำสถานีสูบน้ำที่คลองสำโรง เพื่อเร่งสูบทอยน้ำเป็นขั้น ๆ ลงสู่ทะเล นอกจากนี้ในการระบายน้ำบริเวณหนองงูเห่าให้พิจารณาขุดคลองระบายน้ำ โดยมีขนาดที่เหมาะสมและไม่ใช่เพื่อการระบายน้ำเฉพาะบริเวณสนามบินสุวรรณภูมิ ให้พิจารณารวมบริเวณรอบๆ ด้วย

จากแนวพระราชดำริดังกล่าว กรมชลประทาน จึงสนองพระราชดำริ โดยดำเนินโครงการระบายน้ำบริเวณสนามบินสุวรรณภูมิอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ซึ่งประกอบด้วย คลองระบายน้ำยาว 10.12 กิโลเมตรอาคารประกอบ ประกอบด้วย อาคารสะพานน้ำ 2.20 กิโลเมตร ข้ามคลองชายทะเลและ ถนนสุขุมวิท สะพานรถยนต์ 10 แห่ง ประตูระบายน้ำ 22 แห่งและสถานีสูบน้ำระบายน้ำได้สูงสุด 100 ลบ.ม.ต่อวินาที (เครื่องสูบน้ำ 4 เครื่อง เครื่องละ 25 ลบ.ม.ต่อวินาที รวมถึงสถานีไฟฟ้าย่อย ระบบควบคุมระยะไกล ระบบโทรมาตร อุทกวิทยา และส่วนประกอบอื่นๆ เพื่อทำหน้าที่เร่งระบายน้ำจากคลองสำโรงออกสู่ทะเลโดยตรง เพื่อลดปริมาณน้ำบริเวณพื้นที่รอบท่าอากาศยานสุวรรณภูมิให้สามารถระบายน้ำลงสู่พื้นที่ตอนล่างได้รวดเร็วยิ่งขึ้น เนื่องจากคลองสำโรงเป็นแนวรับน้ำที่สำคัญเพราะเป็นแนวป้องกันปริมาณน้ำจากคลองประเวศบุรีรมย์ และคลองพระองค์ไชยานุชิต ไม่ให้เข้าสู่พื้นที่ด้านใต้คลองสำโรง ซึ่งเป็นพื้นที่เศรษฐกิจสำคัญคือ นิคมอุตสาหกรรมบางพลี นิคมอุตสาหกรรมบางปู โรงงานอุตสาหกรรมบริเวณแนวถนนเทพารักษ์ ที่อยู่อาศัยและสถานที่ราชการต่างๆ ซึ่งปัจจุบันโครงการฯดังกล่าวสามารถดำเนินการได้อย่างเต็มศักยภาพ กล่าวคือ สามารถลดพื้นที่น้ำท่วมลงได้ถึง 140 ตารางกิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่ 87,000 ไร่ ลดความเสียหายจากน้ำท่วมขังในช่วงฤดูน้ำหลากและอุกทกภัยในพื้นทีได้อย่างรวดเร็ว รวมถึงยังสามารถช่วยลดปัญหาการจราจรของจังหวัดสมุทรปราการในการใช้ถนนที่เชื่อมโยงถนนสุขุมวิท-เทพารักษ์ และถนนบางนา-ตราด นอกจากนี้ยังเป็นแหล่งน้ำจืดสำรองเพื่อไว้ใช้ในช่วงฤดูแล้งได้ถึง 2 ล้านลูกบาศก์เมตร อีกด้วย

โอกาสนี้ องคมนตรี ได้พบปะราษฎรผู้ได้รับประโยชน์จากโครงการฯ และเยี่ยมชมการบริหารจัดการน้ำของโครงการ และชมการทำงานของสะพานน้ำสุวรรณภูมิ ในการระบายน้ำลงสู่ทะเล พร้อมกันนี้ องคมนตรีและคณะได้ปลูกต้นรวงผึ้ง เพื่อสร้างความร่มเย็นให้กับพื้นที่โครงการฯ จากนั้นเยี่ยมชมแปลงปลูกข้าวในพื้นที่ว่างเปล่าของโครงการฯ ซึ่งเป็นการใช้เวลาว่างในเกิดประโยชน์ของเจ้าหน้าที่กรมชลประทานและเพื่อเป็นการลดรายจ่ายให้แก่เจ้าหน้าที่ในโครงการฯ

ต่อมาในช่วงบ่าย องคมนตรีและคณะ ได้เดินทางไปยังโครงการประตูระบายน้ำคลองลัดโพธิ์อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตำบลทรงคะนอง อำเภอพระปะแดง จังหวัดสมุทรปราการ เพื่อรับฟังการบรรยายสรุปภาพรวมการดำเนินงานโครงการ จากผู้แทนกรมชลประทาน และรับฟังบรรยายสรุปการพัฒนาชุมชนหลังเกิดโครงการประตูระบายน้ำคลองลัดโพธิ์ จากกำนันตำบลทรงคนอง และร่วมรับฟังจุดเปลี่ยนของประชาชนหลังจากมีโครงการฯ โดยนายกองค์การบริหารส่วนตำบลทรงคนอง

โครงการประตูระบายน้ำคลองลัดโพธิ์ฯ เป็นโครงการที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มีพระราชดำริ เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2545 ความว่า “ให้พิจารณาใช้คลองลัดโพธิ์ จังหวัดสมุทรปราการ เป็นทางลัดระบายน้ำเหนือ ซึ่งจะทำให้ช่วยระบายน้ำได้เร็วเพราะระยะทางสั้น เพียง 600 เมตร ก็ออกทะเลหากวันใดมีน้ำทะเลขึ้นสูงก็ปิดประตูไม่ให้น้ำทะเลเข้ามา” และเมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2553 ได้เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงประทับเรือพระที่นั่งอังสนา เสด็จฯ ทางชลมารค เพื่อทรงเปิดประตูระบายน้ำคลองลัดโพธิ์ และทรงเปิดสะพานภูมิพล 1 และ ภูมิพล 2 อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ

โครงการประตูระบายน้ำคลองลัดโพธิ์อันเนื่องมาจากพระราชดำริ มี ช่องระบายน้ำ 4 ช่อง พร้อมติดตั้งบานระบายเหล็กแนวตรง ขนาดกว้าง 14 เมตร สูง 9.55 เมตร ตั้งอยู่บริเวณแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่าง ซึ่งจะอยู่ในเขตอิทธิพลของน้ำทะเลหนุนขึ้นลง การบริหารการจัดการประตูระบายน้ำคลองลัดโพธิ์อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จะต้องให้มีความสัมพันธ์กับจังหวะการขึ้นลงของน้ำทะเล โครงการประตูระบายน้ำคลองลัดโพธิ์อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ช่วยร่นระยะทางจาก 18 กิโลเมตร เหลือ 600 เมตร โดยใช้เวลาจาก 5 ชั่วโมง เหลือ 10 นาที ซึ่งเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำของแม่น้ำเจ้าพระยาช่วงน้ำหลาก สามารถช่วยลดผลกระทบน้ำท่วมต่อพื้นที่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ในเขตกรุงเทพมหานคร และปริมณฑล โดยนับตั้งแต่ปี 2549-2563 โครงการประตูระบายน้ำคลองลัดโพธิ์อันเนื่องมาจากพระราชดำริ สามารถเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำของแม่น้ำเจ้าพระยา ลงอ่าวไทยได้ 10-15% และสามารถบรรเทาอุทกภัยบริเวณฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาตั้งแต่ อำเภอบางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ลงมาถึง จังหวัดสมุทรปราการ

นอกจากนี้ ได้ประดิษฐ์เครื่องกำเนิดไฟฟ้าพลังงานจลน์และโครงสร้างเครื่องกำเนิดไฟฟ้าพลังงานจลน์ พร้อมกับได้รับสิทธิบัตรและได้รับพระราชทานนามจากพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เมื่อวันที่ 19 มกราคม 2554 ว่า “อุทกพลวัต”

พร้อมกันนี้ องคมนตรีและคณะ ได้เดินทางไปเยี่ยมบ้าน นายนภดล ทองมั่น ประธานศูนย์เครือข่ายอนุรักษ์พันธุ์พืชเฉพาะถิ่น (ส้มเทพรส) ซึ่งเป็นหนึ่งในราษฎรที่ได้รับประโยชน์การบริหารจัดการน้ำ จากโครงการประตูระบายน้ำคลองลัดโพธิ์ฯ ปัจจุบัน เป็นศูนย์เรียนรู้ ที่สร้างความหลากหลายให้เกิดขึ้นในชุมชน ทั้งการอนุรักษ์ ผลิต ปลูกและดูแลรักษาส้มเทพรส ซึ่งเป็นพันธุ์พืชเฉพาะถิ่นชนิดแรกของประเทศไทยที่ผ่านการรับรอง การขึ้นทะเบียนพันธุ์พืชคุ้มครองเฉพาะถิ่น จากกรมวิชาการเกษตร โดยภายในศูนย์ฯ มีฐานการเรียนรู้ต่าง ๆ เช่น การปลูก/การดูแลรักษา/การขยายพันธุ์ส้มเทพรส การเรียนรู้ผ้าบาติก จากพืชท้องถิ่นการทำชาจากลูกจาก และการแปรรูปอาหาร รวมถึงเป็นสถานที่ให้ความรู้และท่องเที่ยววิถึของชุมชน ที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งของโครงการ .