-Agri

“ด้วยพระบารมี” วันนี้ชาวปราจีนบุรีหมดปัญหา “น้ำท่วม-น้ำแล้ง”ซ้ำชาก

ในช่วงปลายฝนต้นหนาวที่ผ่านมา ประเทศไทยมีพายุโซนร้อนหลายลูกพาดผ่าน ทั้ง “หลิ่นฟา” “นังกา”และ “โซเดล” โดยได้อ่อนกำลังเป็นดีเปรสชั่นซึ่งส่งผลกระทบต่อประเทศไทยในหลายพื้นที่ บางพื้นที่เกิดน้ำท่วมฉับพลันและรุนแรง น้ำป่าไหลหลาก ในหลายๆ จังหวัด ทั้งภาคเหนือ ภาคอีสาน ภาคกลาง และภาคตะวันออก หรือ แม้แต่พายุล่าสุด พายุโซนร้อน “โมลาเบ”

จากสถานการณ์ดังกล่าว เขื่อนนฤบดินทรจินดา จังหวัดปราจีนบุรี ได้ทำหน้าที่อย่างเต็มประสิทธิภาพสามารถรองรับน้ำป่าที่ไหลหลากมาจากอุทยานแห่งชาติทับลาน อุทยานแห่งชาติปางสีดา อุทยานแห่งชาติตาพระยา และอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ทั้งหมด ทำให้ปัญหาน้ำท่วม น้ำป่าไหลหลากในพื้นที่จังหวัดปราจีน และพื้นที่ใกล้เคียงหมดไป นอกจากนี้ยังทำให้มีปริมาณน้ำเพิ่มขึ้น ซึ่งนั่นหมายถึงในหน้าแล้งปีหน้าจะไม่มีปัญหาเรื่องน้ำต้นทุนสำหรับการอุปโภค บริโภค และการเกษตรอย่างแน่นอน

นายพลากร สุวรรณรัฐ องคมนตรี ประธานกรรมการติดตามและขับเคลื่อนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ กล่าวในระหว่างติดตามการดำเนินงานของโครงการอ่างเก็บน้ำนฤบดินทรจินดา ตำบลแก่งดินสอ อำเภอนาดี จังหวัดปราจีนบุรี ว่าอ่างเก็บน้ำแห่งนี้สมประโยชน์ตามที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงคาดการณ์ไว้ว่า จะยังประโยชน์แก่ประเทศชาติและราษฎรในพื้นที่อย่างเต็มที่ ซึ่งตั้งแต่มีการเก็บกักน้ำในช่วง 3 – 4 ปีที่ผ่านมา ทำให้พื้นที่แถบ กบินทร์บุรี ปราจีนบุรี ซึ่งเป็นแหล่งนิคมอุตสาหกรรมขนาดใหญ่เป็นผลผลิตหลักในการส่งออกของประเทศ ไม่เคยมีเหตุน้ำท่วมในพื้นที่ และเขตอุตสาหกรรม ซึ่งแทนที่จะต้องเสียเงินมากมายมหาศาลในการป้องกัน หรือแก้ไขเรื่องน้ำท่วมในเขตอุตสาหกรรม ก็ไม่ต้องสูญเสีย ซึ่งถือว่าคุ้มค่ามากกับการก่อสร้างเขื่อนแห่งนี้ขึ้นมา

“พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงรับสั่งตั้งแต่เดือนแรก ๆ ที่เสด็จขึ้นครองราชย์ในปี 2559 ซึ่งเป็นช่วงปลายเดือนตุลาคม 2559 พระองค์พระราชทานพระราชดำริ ว่าจะช่วยเหลือพี่น้องประชาชนอย่างไร ซึ่งในช่วงนั้นซึ่งมีน้ำมากพอสมควร ก็รับสั่งว่าขอให้ทุกฝ่ายได้ร่วมมือกันประสานงาน และแผนที่วางไว้ก็ขอให้มีการทดสอบอยู่เสมอ ตั้งแต่แผนเผชิญเหตุ แผนระยะกลาง และแผนระยะยาว ต้องมีการปรับปรุงอยู่เสมอ และเมื่อมีเหตุเกิดนั้นขึ้นก็ขอให้ทุกหน่วย ร่วมกันแบ่งพื้นที่ให้ชัดเจน แล้วรีบระดมช่วยเหลือพี่น้องประชาชน โดยเฉพาะอุทกภัยและวาตภัยที่พี่น้องจะประสบบ่อย ๆ ทุกปี ขอให้รีบเข้าไปถ้าเป็นเรื่องของวาตภัยหลังคาบ้านเสียหาย ให้ไปซ่อมทันทีระดมกันทั้ง ทหาร ตำรวจ พลเรือน จิตอาสา ต้องระดมซ่อมหลังคาบ้านให้เสร็จ ประการที่สอง อาหารมื้อแรก ในกรณีที่พี่น้องประชาชนผู้ประสบภัยไม่สามารถที่จะหุงหาอาหารได้ให้ครัวพระราชทานของหน่วยที่รับผิดชอบตรงนั้นรีบเข้าไปตั้งครัว แล้วก็ทำอาหารสดสะอาด ร้อนๆ ทุกวัน ให้พี่น้องรับประทาน และทรงรับสั่งตลอดเวลาว่าประเทศไทยนั้นอุดมสมบูรณ์ พี่น้องประชาชนคนไทยต้องไม่อดแม้แต่มื้อเดียว เมื่อเกิดเหตุเมื่อประสบภัยพิบัติขึ้น อันนี้เป็นเรื่องที่พวกเราทุกฝ่ายได้น้อมนำเอาพระราชปณิธานมาปฏิบัติกัน ตั้งแต่ทรงพระราชทานพระราชดำริจนถึงบัดนี้”

สำหรับอ่างเก็บน้ำนฤบดินทรจินดานั้น สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.) กรมชลประทาน และ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ร่วมกันสนองพระราชดำริ โดยดำเนินการก่อสร้างเป็นเขื่อนดินแบบแบ่งโซน (Zone Type Dam) ความสูงประมาณ 33 เมตร ความยาวประมาณ 3,970 เมตร พร้อมทำนบดินปิดช่องเขาต่ำจำนวน 2 แห่ง และระบบส่งน้ำระบายน้ำ ปริมาณความจุ 295 ล้านลูกบาศก์เมตร พื้นที่รับประโยชน์ 111,300 ไร่ เริ่มเก็บกักน้ำได้ตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2559 ปัจจุบันมีปริมาณน้ำประมาณ 228 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 77.31 ของความจุเก็บกัก (ข้อมูล ณ วันที่ 21 ตุลาคม 2563)และสามารถช่วยแก้ปัญหาอุทกภัยที่เกิดขึ้นเป็นประจำทุกปีได้เป็นอย่างดีส่งผลให้ไม่เกิดน้ำท่วมอีกเลย อีกทั้งช่วยฟื้นฟู รักษาระบบนิเวศน์ของสภาพป่าและทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่ป่าเหนืออ่างเก็บน้ำและบริเวณโดยรอบ เกษตรกรมีน้ำสำหรับอุปโภค-บริโภค และทำเกษตรกรรม และสามารถทำการประมงสร้างรายได้ให้แก่ราษฎรอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน

นายสุริยะ อุทระภาศ ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 3 ตำบลแก่งดินสอ เปิดเผยว่า ก่อนที่จะมีการสร้างอ่างเก็บน้ำนฤบดินทรจินดา ในพื้นที่มีปัญหาเรื่องน้ำป่าไหลหลาก ในช่วงฤดูฝนและแห้งแล้งในฤดูแล้ง เป็นอย่างนี้ทุกปีหลังจากมีอ่างเก็บน้ำปัญหาเหล่านี้ ก็หมดไป ทำให้ชาวบ้านมีอาชีพที่มั่นคงและยั่งยืน นอกจากทำการเกษตรด้วยการเพาะปลูกพืชต่างๆ แล้วก็ยังสามารถทำการประมงในอ่างเก็บน้ำได้อีก จนเกิดอาชีพประมงน้ำจืดในอ่างเก็บน้ำ มีสัตว์น้ำให้จับจำนวนมากจนชาวประมงในพื้นที่สามารถรวมตัวกันจัดตั้งเป็นสหกรณ์ ชื่อสหกรณ์แพปลาห้วยสโมง จำกัด มีสมาชิกประมาณ 280 คน และได้ช่วยให้การบริหารจัดการด้านการประมงในอ่างเก็บน้ำเป็นไปอย่างถูกต้องและเป็นธรรมกับทุกฝ่าย ทั้งชาวประมง และพ่อค้าผู้รับซื้อ

“อาชีพประมงที่ผ่านมาชาวตำบลแก่งดินสอไม่เคยทำ หลังจากในอ่างเก็บน้ำมีปลาจำนวนมาก และทางหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องเข้ามาให้การอบรม ถึงวิธีการทำประมงน้ำจืดที่ถูกต้องและยั่งยืน คือ ให้มีปลาให้ได้จับทั้งปี และช่วยให้ราษฎรส่วนหนึ่งที่เคยได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมพื้นที่ทำการเกษตรก็หันมาประกอบอาชีพทำประมง ไม่ต้องอพยพออกนอกพื้นที่” นายสุริยะ อุทระภาศ กล่าว

ส่วน นายนิรันด์ บัวจู ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ที่ 8 บ้านหินเทิน จังหวัดปราจีนบุรี กล่าวว่า ก่อนที่จะมีอ่างเก็บน้ำราษฎรในพื้นที่จะทำการเกษตรด้วยการทำไร่ สวนผลไม้ ยางพารา และปลูกยูคา ซึ่งมักจะไม่ประสบความสำเร็จ เนื่องจากขาดแคลนน้ำ แต่หลังจากมีอ่างเก็บน้ำความอุดมสมบูรณ์ของพื้นที่ก็เกิดขึ้น ราษฎรก็สามารถปรับเปลี่ยนชีวิตในการทำกินมีช่องทางทำมาหากินมากขึ้น การทำเกษตรก็สมบูรณ์ไม้ผลให้ผลผลิตดียางพาราก็สมบูรณ์ และยังสามารถเพาะปลูกพืชอื่นได้อีกด้วย

“ตอนนี้มีการรวมกลุ่มกันทำการเกษตรทฤษฎีใหม่ตามแนวพระราชดำริ โดยรวมกันปลูกและร่วมกันขายสามารถต่อรองราคารับซื้อจากพ่อค้าได้ ทำให้ราษฎรมีรายได้ที่มากขึ้นกว่าที่ผ่านมา รู้สึกภาคภูมิใจที่พ่อหลวงรัชกาลที่ เพ9 สร้างรากฐานไว้ให้ และพระองค์ท่านรัชกาลที่ 10 ท่านได้มาต่อยอดโครงการฯ แม้พระองค์ไม่ได้เสด็จมาก็ยังมอบหมายให้คณะองคมนตรีมาติดตามงานอย่างต่อเนื่อง ปีหนึ่งๆ ก็มาหลายๆ ครั้ง ในฐานะตัวแทนชาวบ้านแถวนี้ก็รู้สึกดีใจ ภูมิใจ และรักพระองค์ท่านมาก เพราะพระองค์ได้ทำสิ่งดี ๆ ให้กับพี่น้องชาวปราจีนบุรี” นายนิรันด์ บัวจู กล่าว