-Healthyknowledge

ไทยติด 1 ใน 5 ประเทศที่มีอัตราการเกิดโรคไตสูงสุด กรมอนามัยแนะเลี่ยง 8 ประเภทอาหาร

นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า ทุกวันพฤหัสบดีที่ 2 ของเดือนมีนาคมเป็นวันไตโลก (World Kidney Day 2023) ซึ่งปีนี้ตรงกับวันที่ 9 มีนาคม 2566 รณรงค์ภายใต้แนวคิด “Kidney Health For All- preparing for the unexpected supporting the vulnerable” “ตระหนักภัย ใส่ใจไต ป้องกันไว้ เน้นกลุ่มเสี่ยง” สำหรับในประเทศไทย มีผู้ป่วยไตเรื้อรัง จำนวน 11.6 ล้านคน และมีจำนวนมากกว่า 1 แสนคนที่ต้องล้างไต และจากรายงานของ The United States Renal Data System (USRDS) พบว่า ประเทศไทยเป็น 1 ใน 5 ประเทศที่มีอัตราการเกิดโรคไตสูงที่สุด ซึ่งการป้องกันโรคไตเริ่มต้นง่ายๆ แค่ลดการบริโภคโซเดียม และเพิ่มการรับประทานผักและผลไม้ ร่างกายคนเราควรบริโภคโซเดียมไม่เกิน 2,000 มิลลิกรัมต่อวัน หรือเทียบเท่า เกลือ 1 ช้อนชา หรือ 5 กรัม เมื่อเฉลี่ยแล้วไม่ควรได้รับโซเดียมเกิน 600 มิลลิกรัมต่อมื้ออาหาร แต่ปัจจุบันคนไทยมีแนวโน้มการบริโภคโซเดียมมากเกินไป อาจมาจากความชอบกินอาหารเค็ม ติดรสเค็ม หรือจากความไม่รู้ส่วนประกอบของปริมาณโซเดียมในอาหารประเภทนั้นๆ หากกินเค็มมากเกินไปเป็นระยะเวลานาน จะก่อให้เกิดโรคต่างๆ เช่น โรคหัวใจ หลอดเลือดสมอง ความดันโลหิตสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรคไตเรื้อรัง

นายแพทย์สุวรรณชัย กล่าวต่อไปว่า การป้องกันภาวะไตเสื่อมที่จะนำไปสู่โรคไตเรื้อรังด้วยการบริโภคอาหารในปริมาณที่เหมาะสม ลดอาหารที่มีรสหวาน มัน เค็ม โดยบริโภคน้ำตาลไม่เกิน 6 ช้อนชาต่อวัน น้ำมันไม่เกิน 6 ช้อนชาต่อวัน และเกลือไม่เกิน 1 ช้อนชาต่อวัน รวมทั้งหลีกเลี่ยง 8 ประเภทอาหารที่เสี่ยงต่อการได้รับโซเดียมเกินคือ

1) อาหารที่มีโซเดียมสูง เช่น ผงชูรส ผงปรุงรส ซุปก้อน ผงฟู ซอสต่างๆ 2) เนื้อสัตว์ปรุงรสหรือแปรรูป เช่น ไส้กรอก กุนเชียง แฮม 3) อาหารที่มีส่วนผสมของเนยและครีม เช่น เค้ก พิซซ่า ขนมอบต่างๆ 4) หลีกเลี่ยงอาหาร ที่มีฟอสฟอรัสสูง เช่น ผลิตภัณฑ์จากนม เครื่องในสัตว์ เมล็ดถั่ว กุ้งแห้ง 5) อาหารหมักดอง เช่น ไข่เค็ม ปลาเค็ม ปลาร้า ผักกาดดอง 6) เนื้อสัตว์ปรุงรสหรือแปรรูป เช่น ไส้กรอก กุนเชียง แฮม หมูหยอง และอาหารเติมเกลือ เช่น บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ข้าวต้มซอง โจ๊กซอง 7) ลดการกินเนื้อสัตว์ลงโดยเฉพาะเนื้อสัตว์ติดมัน เช่น คอหมูย่าง เอ็นหมู เอ็นวัว ข้อไก่ และ 8) หลีกเลี่ยงอาหารที่มีโคเลสเตอรอล หรือไขมันอิ่มตัวสูง เช่น ไข่แดง ไข่ปลา ปลาหมึก หอยนางรม ขาหมู รวมทั้งอาหารที่มีส่วนผสมของเนย และครีม เช่น เค้ก พิซซ่า และผลิตภัณฑ์ขนมอบ

“ที่สำคัญ ประชาชนควรอ่านฉลากโภชนาการ ด้วยการสังเกตปริมาณโซเดียม รวมถึงโซเดียมแฝงที่ปรากฎ บนภาชนะบรรจุผลิตภัณฑ์นั้น ๆ เพื่อประกอบการตัดสินใจก่อนซื้อทุกครั้ง หรือเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ที่มี สัญลักษณ์ทางเลือกสุขภาพ (Healthier Choice) ซึ่งการลดกินเค็มเป็นการยืดอายุการทำงานของไต เพราะไม่ต้องทำงานหนักมากเกินไป และช่วยป้องกันการเกิดโรคไตวายเรื้อรังได้” อธิบดีกรมอนามัย กล่าว
🧂 โซเดียมในเครื่องปรุง เติมมากไป ไตสะเทือน 🧂

ใน 1 วัน ร่างกายควรได้รับโซเดียม ไม่เกิน 2,000 มิลลิกรัม

หากกินมากเกินไป จะทำให้มีผลต่อสุขภาพ ทำให้เสี่ยงต่อภาวะไตวาย ความดันโลหิตสูง เส้นเลือดหัวใจตีบ และอาจทำให้เส้นเลือดสมองแตก

ตารางโซเดียมในเครื่องปรุงรส
เครื่องปรุง (ในปริมาณ 1 ช้อนโต๊ะ ) :ปริมาณโซเดียม(มิลลิกรัม )

เกลือ : 6,000
น้ำปลา : 1,160 – 1,420
ซีอิ๊วขาว : 960 – 1,420
ซอสปรุงรส : 1,150
กะปิ : 1,430 -1,490
ซอสหอยนางรม : 420 – 490

📌”ไม่อยากสะเทือนไต โปรดใส่ใจก่อนปรุง”

ที่มา : กรมอนามัย
ข้อมูลความรู้โดย : สำนักโภชนาการ
ออกแบบผลิตสื่อโดย : กองส่งเสริบความรอบรู้และสื่อสารสุขภาพ