-ชุมชน-สังคมพม.

พม.ชี้แจงกรณีเงินช่วยเหลือผู้ป่วยโรคเอดส์ จ่ายเป็นรายกรณี ติดต่อกันไม่เกิน 3 ครั้ง/ปีงบฯ ไม่ใช่สวัสดิการแบบเบี้ยยังชีพ

จากกรณีที่สื่อนำเสนอข้อมูลประเด็น “พม. จ่ายเงินช่วยเหลือให้แก่ผู้ป่วยติดเชื้อ HIV ปีละ 2 ครั้งเท่านั้น เนื่องจากงบประมาณไม่เพียงพอนั้น นายอุเทน ชนะกุล โฆษกกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ชี้แจงว่า กรมฯ ได้ดำเนินการให้ความช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากปัญหาโรคเอดส์ ตามระเบียบกระทรวงการคลัง เรื่องการเบิกจ่ายค่าใช้จ่ายโครงการรณรงค์เพื่อป้องกันโรคเอดส์ ซึ่งจะจ่ายให้แก่ครอบครัวที่หัวหน้าครอบครัวติดเชื้อเอชไอวี ไม่สามารถดูแลครอบครัวได้ หรือจ่ายให้ครอบครัวที่มีผู้ติดเชื้อเอชไอวีอยู่ในอุปการะ โดยให้ความช่วยเหลือ เป็นเงินสงเคราะห์ครั้งละไม่เกิน 2,000 บาท/ครอบครัว ติดต่อกันไม่เกิน 3 ครั้ง/ปีงบประมาณ ทั้งนี้ ขอเรียนว่าเงินช่วยเหลือตามระเบียบนี้ เป็นการช่วยเหลือรายกรณี ไม่ใช่สิทธิสวัสดิการเบี้ยยังชีพจ่ายต่อเนื่อง เหมือนที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจ่ายให้ผู้ติดเชื้อเอดส์เป็นรายเดือนตามภูมิลำเนา

ในส่วนของ พม. จะพิจารณาจากครอบครัวที่เดือดร้อน ประสบปัญหาการดำรงชีพ ซึ่งเป็นการพิจารณาให้ความช่วยเหลือเฉพาะรายและเป็นรายครั้งไป ซึ่งบางรายเมื่อได้รับความช่วยเหลือแล้ว สามารถดูแลตัวเองได้ หรือนักสังคมสงเคราะห์ประสานส่งต่อเข้าถึงสวัสดิการด้านอื่นๆ ก็อาจได้รับการช่วยเหลือไม่ถึง 3 ครั้ง

ในปีที่ผ่านมา มีจำนวนผู้ติดเชื้อ HIV ที่ยังมีชีวิตอยู่ จำนวน 493,859 คนทั่วประเทศ ซึ่งกรมฯ ได้รับจัดสรรงบประมาณร้อยละ 1.7 จากจำนวนผู้ติดเชื้อทั้งหมด จึงพิจารณาให้ความช่วยเหลือตามสภาพปัญหาของแต่ละบุคคล โดยจะมีนักสังคมสงเคราะห์หรือผู้ที่ได้รับมอบหมายเป็นผู้วินิจฉัย

นายอุเทน กล่าวต่อไปว่า สำหรับประเด็นระยะเวลาการให้ความช่วยเหลือ พม. ตระหนักดีถึงความเดือดร้อนของประชาชน จึงได้กำหนดแนวทางการให้ความช่วยเหลือของหน่วยงานในสังกัด เพื่อให้ความช่วยเหลือถึงมือประชาชนโดยเร็ว ขอให้มั่นใจว่า พม. จะให้ความช่วยเหลือตรงตามสภาพปัญหา คำนึงถึงความเดือดร้อนของประชาชนเป็นสำคัญ

นายอุเทน กล่าวอีกว่า อย่างไรก็ตาม การให้ความช่วยเหลือผู้ติดเชื้อฯ จะมีรายละเอียดด้านเอกสารใบรับรองแพทย์ที่ระบุว่ามีการติดเชื้อ HIV ดังนั้น ขอฝากไปยังประชาชนที่ประสบปัญหาและได้ยื่นเรื่องแล้วแต่ยังไม่ได้รับการช่วยเหลือ ให้โทรแจ้งไปที่ สายด่วน พม. 1300 ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อทางกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ จะได้ตรวจสอบและดำเนินให้ความช่วยเหลือต่อไป.