-covidnewsknowledgeสาธารณสุข

ศูนย์จีโนมฯ ชี้ ผู้ติดเชื้อ/ตายจากโควิด-19 ทั่วโลกลดต่อเนื่อง หลัง BA.5 ครอง เผย 20 อาการป่วย ส่วนใหญ่ “เจ็บคอ-ปวดหัว”

เมื่อวันที่ 29 ส.ค.2565 ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล เผยแพร่ข้อมูลผ่านเพจ Center for Medical Genomics เกี่ยวกับสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019(โควิด-19) โดยอ้างอิงข้อมูลจากองค์การอนามัยโลกพบว่า มีผู้ติดเชื้อโควิด-19 ทั้งสิ้นตั้งแต่เริ่มการระบาดใน ปี 2562/2019 จนถึง 2565/2022 ประมาณ 600 ล้านคน มีผู้เสียชีวิต 6.4 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 1 โดยขณะนี้มีจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่และผู้เสียชีวิตลดลงอย่างต่อเนื่อง หลายประเทศมีแนวโน้มที่เชื้อโควิด-19 จะกลายเป็นโรคประจำถิ่น ที่สาธารณสุขของประเทศนั้นสามารถควบคุมการระบาดได้ หากไม่มีโควิดสายพันธุ์ใหม่อุบัติขึ้นมาแทนที่โอมิครอน BA.5 (ภาพ1)

โอมิครอน “BA.2.75” แม้จะมีการกลายพันธุ์ไปถึง 100 ตำแหน่งเมื่อเปรียบเทียบกับไวรัสดั้งเดิม “หวู่ฮั่น” และกลายพันธุ์ไปมากกว่าโอมิครอน BA.5 แต่ปรากฏว่าการแพร่ระบาดกลับเริ่มลดลง และไม่น่าจะเข้ามาแทนที่โอมิครอน BA.5 ได้ (ภาพ2)

ข้อมูลจาก “เน็กซ์สเตรน/Nextstrain” พบว่ามีโอมิครอน 4 สายพันธุ์ย่อยที่กำลังระบาดอยู่ทั่วโลกโดยมีโอมิครอน BA.5 ระบาดเป็นสายพันธุ์หลัก รองลงมาคือ BA.4, BA.2.12.1 และ BA.2.75 ส่วนประเทศไทยพบโอมิครอน BA.5 ถึง 88.14% เป็นสายพันธุ์หลัก (ภาพ3)

ทั้งนี้ โอมิครอน BA.5 เป็นไวรัสที่ติดต่อได้ง่ายที่สุดเป็นอันดับหนึ่งของโลกเหนือกว่าไวรัสหัด จากการคำนวณของ ศ.เอเดรียน เอสเทอร์แมน อดีตผู้เชี่ยวชาญด้านชีวสถิติและระบาดวิทยาของ WHO ชาวออสเตรเลีย พบว่าโอมิครอน BA.5 มี R-naught (R0) ถึง 18.6 ในขณะที่ไวรัสหัด มี R0 เพียง 16-18 (R0 = 18 หมายถึงความสามารถที่ไวรัสชนิดนั้นจะแพร่จากผู้ติดเชื้อ 1 คน ไปติดยังผู้ที่ไม่เคยติดเชื้อและไม่มีภูมิคุ้มกันต่อไวรัสนี้ได้ถึง 18 คน) (ภาพ4)

ข้อมูลจากหน่วยงานความมั่นคงด้านสุขภาพแห่งสหราชอาณาจักร (UKHSA) และกรมอนามัยและการดูแลสังคมของอังกฤษ สรุปอาการของโอมิครอน “BA.5”ไว้ดังนี้
• 61% ของผู้ติดเชื้อ BA.5 จะแสดงอาการ
• 39% ของผู้ติดเชื้อ BA.5 จะไม่แสดงอาการ
• มีอาการรุนแรงน้อยกว่า BA.1/BA.2 และ เดลตา

โดยไม่อาจสรุปได้ว่าเนื่องจากสายพันธุ์ย่อย BA.5 มีการกลายพันธุ์ไปกว่า 90 ตำแหน่งต่างไปจากไวรัสดั้งเดิม “หวู่ฮั่น” หรือเป็นเพราะภูมิคุ้มกันของประชากรที่เพิ่มขึ้นจากการติดเชื้อตามธรรมชาติและจากการฉีดวัคซีน หรือจากทั้งสองประการ
• พบอาการหายใจไม่อิ่ม น้อยกว่า 12% น้อยกว่าสายพันธุ์ที่ระบาดมาก่อนหน้า (ปอดถูกทำลายน้อยกว่า)
• มีปริมาณไวรัส (viral load) ในจมูกและลำคอน้อยกว่าสายพันธุ์ก่อนหน้า ทำให้การตรวจ ATK มีผลเป็นลบเพิ่มขึ้น
• มีอาการลองโควิด (long covid) น้อยกว่าโดยเฉพาะที่มีผลกระทบต่อสมอง

ดร.แคลร์ สตีฟส์ (Claire Steves) นักวิจัยอาวุโสทางคลินิกของคิงส์คอลเลจ ลอนดอน กล่าวว่ามีโอกาสน้อยที่โอมิครอน BA.5 จะก่อให้เกิดอาการลองโควิด แม้จะสังเกตพบว่าจำนวนผู้ติดเชื้อโอมิครอน BA.5 จำนวน 1 ใน 25 คนจะยังคงแสดงอาการนานกว่า 4 สัปดาห์

นอกจากนี้ได้มีการสรุปอาการของผู้ติดเชื้อโอมิครอน “BA.5” โดยอาศัยข้อมูลจากโครงการ “ZOE COVID Study” ซึ่งประชาชนชาวอังกฤษกว่า 800,000 คน ได้ร่วมกันกรอกข้อมูลอาการทางคลินิกของผู้ติดเชื้อแต่ละคนผ่านแอปพลิเคชันบนโทรศัพท์มือถือ

สรุป 20 อาการโควิด-19 (ส่วนใหญ่เป็นโอมิครอน BA.5)
1. เจ็บคอ 63%
2. ปวดหัว 51%
3. จมูกอุดตัน 48%
4. ไอไม่มีเสมหะ 46%
5. น้ำมูกไหล 45%
6. ไอมีเสมหะ 44%
7. เสียงแหบ 44%
8. จาม 39%
9. ความเหนื่อยล้า 29%
10. ปวดกล้ามเนื้อ 28%
11. เวียนหัว 23%
12. กลิ่นที่เปลี่ยนไป 17%
13. ต่อมคอบวม 16%
14. เจ็บตา 16%
15. เจ็บหน้าอก/แน่น 14%
16. ไข้ 13%
17. สูญเสียกลิ่น 13%
18. เกิดอาการหายใจไม่อิ่มเพียง 12% (shortness of breath เป็นการหายใจเป็นช่วงสั้นๆ หายใจถี่ ไม่สามารถหายใจเข้าลึกๆ ตามปกติ) ทำให้จำนวนผู้ติดเชื้อไวรัสที่ต้องเข้ารักษาตัวใน รพ. ลดลงเมื่อเทียบกับสายพันธุ์ที่ระบาดมาก่อนหน้า
19. ปวดหู 12%
20. ร้อนวูบวาบ 11%

อาการลองโควิดสามารถแบ่งออกได้ 3 กลุ่มอาการ ตาม “ZOE COVID Study” ดังนี้

I) กลุ่มอาการทางระบบประสาท ความรู้สึกเหนื่อยล้า สมองอ่อนล้า ปวดหัว ส่วนใหญ่มักเกิดในช่วงที่สายพันธุ์อัลฟาและเดลต้าระบาด (อาจชี้ถึงความเสียหายของสมอง)

II) อาการระบบทางเดินหายใจ เจ็บหน้าอก หายใจลำบากอย่างรุนแรง (อาจชี้ถึงความเสียหายของปอด) พบคลัสเตอร์ที่ใหญ่ที่สุดในช่วงเริ่มต้นของการระบาดใหญ่ของโควิด-19 สายพันธุ์ดั้งเดิม “ไวรัสหวู่ฮั่น”

III) อาการที่หลากหลาย ใจสั่น ปวดเมื่อยตามกล้ามเนื้อ ผิวหนังและขนเปลี่ยนแปลง

กรณีลองโควิดจากโอมิครอน BA.5 แม้การจัดเก็บข้อมูลยังไม่ครบ แต่ในเบื้องต้นพบลองโควิดจากโอมิครอน BA.5 น้อยกว่าในช่วงการระบาดของสายพันธุ์เดลตาถึง 20-50%
=============================
ที่มาข้อมูล : https://www.mirror.co.uk/news/health/zoe-study-shows-long-covid-27460898
https://www.youtube.com/watch?v=cGpnFFH3pnM