บทความ

ฟ้าสีเพลิง…วิทยาศาสตร์ที่มากกว่าความเชื่อ

เมื่อไหร่ที่ท้องฟ้าเปลี่ยนเป็นสีแดง โบราณมักจะมีความเชื่อต่างๆกันออกไป บ้างก็ว่าจะเกิดภัยพิบัติที่รุนแรงหลังจากนี้ หรือมีเหตุการณ์ไม่ดีจะเกิดขึ้นตามมา แต่แท้จริงแล้วหากเรามองในมุมวิทยาศาสตร์เราจะได้พบกับคำตอบที่แท้จริงว่าเกิดอะไรขึ้นกันแน่..!!

จากกรณีที่มีผู้โพสต์เฟสบุ๊คภาพท้องฟ้ายามเย็นบริเวณริมชายหาดแถบๆจังหวัดกระบี่ เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2563 ในช่วงเวลาเย็นๆใกล้พลบค่ำ เป็นภาพท้องฟ้าสีเพลิงหรือสีแดงจ้า แอดมินจึงไม่รอช้ารีบหาข้อมูล และดูภาพจากกล้อง CCTV จากสถานีเรดาร์ชายฝั่ง ที่เกาะลันตา ต.เกาะลันตาใหญ่ อ.เกาะลันตา จ.กระบี่ ทันที ปรากฏภาพตามที่เห็นในโลกออนไลน์ (ตามภาพ)

จริงๆแล้วแสงของดวงอาทิตย์นั้นประกอบไปด้วย 7 สี ได้แก่ ม่วง คราม น้ำเงิน เขียว เหลือง ส้ม แดง ซึ่งก็คือสีของรุ้งกินน้ำนั่นเอง แสงแต่ละสีจะมีความยาวคลื่นที่ไม่เท่ากัน โดยแสงสีโทน ม่วง คราม และน้ำเงินจะมีความยาวคลื่นสั้นกว่าแสงสีโทนสีส้มแดงที่มีความยาวคลื่นยาวกว่า ซึ่งความยาวของคลื่นแสงนั้นส่งผลที่ทำให้เรามองเห็นสีบนท้องฟ้าแตกต่างกันออกไป เพราะแสงสีที่มีความยาวคลื่นสั้นจะเกิดการกระเจิง จากการกระทบกับโมเลกุลในต่างๆในชั้นบรรยากาศ เช่น แก๊สไนโตรเจน แก๊สออกซิเจน ไอน้ำ และฝุ่นต่างๆได้มากกว่าแสงสีทีมีความยาวคลื่นยาว ทำให้เรามองเห็นท้องฟ้าเป็นสีฟ้านั่นเอง

ส่วนการที่เราเห็นท้องฟ้าจะเปลี่ยนสีไปตามช่วงเวลาต่างๆของวัน เช่น สีเหลืองส้มในช่วงเช้า, สีฟ้าในตอนกลางวัน และสีส้มแดงในช่วงเย็น เป็นต้น เพราะในเวลาเช้าและเย็นดวงอาทิตย์ทำมุมลาดกับพื้นโลก แสงเดินทางผ่านบรรยากาศเป็นระยะทางยาว อุปสรรคที่ขวางกั้นมีมาก แสงสีโทนน้ำเงินจึงเกิดการกระเจิงที่บรรยากาศรอบนอกจนหมด เหลือเพียงแสงสีโทนส้มแดงที่หลุดรอดเข้ามาได้ทำให้เราเห็นท้องฟ้าเป็นสีส้มเหลือง หรือส้มแดง ส่วนในเวลากลางวัน ดวงอาทิตย์ทำมุมชันกับพื้นโลก แสงเดินทางผ่านบรรยากาศเป็นระยะทางสั้น อุปสรรคที่กีดขวางมีน้อย แสงสีโทนน้ำเงินจึงมีการกระเจิงได้ดีทั่วท้องฟ้า ทำให้เราเห็นท้องฟ้าเป็นสีฟ้าคราม

หากจะมองในเรื่องของความสัมพันธ์กับความเชื่อหรือภูมิปัญญาท้องถิ่นที่ว่าถ้าเกิดสีท้องฟ้าเป็นสีส้มเข้มออกแดงจะเกิดพายุหรือฝนฟ้าคะนองตามา ตรงนี้ก็สามารถอธิบายได้ด้วยหลักทางวิทยาศาสตร์ที่ว่า เกิดจากการรวมตัวกันอย่างหนาแน่นของอนุภาคหรือมวลสารต่างๆในอากาศ เช่น ไอน้ำ ในบรรยากาศชั้นล่าง ก็คือเมฆฝนนั่นเอง เมื่อแสงจากดวงอาทิตย์ส่องลงมากระทบกับกลุ่มของไอน้ำที่เกาะกันอยู่หนาแน่น ทำให้แสงที่จะกระเจิงผ่านได้ดีมีแต่แสงสีโทนส้มแดงเท่านั้น ทำให้เรามองเห็นท้องฟ้าก่อนเกิดพายุหรือฝนฟ้าคะนองเป็นสีส้มแดง ไปจนถึงแดงเข้มยิ่งถ้ามีความหนาแน่นของอนุภาคหรือมวลสารต่างๆในอากาศมีมาก โดยที่คนโบราณหรือชาวเรือได้ใช้วิธีการสังเกตสีท้องฟ้าในการทำนายอากาศ นั่นหมายความว่า ถ้าฟ้าแดงเข้มในตอนเย็นหรือทางทิศตะวันตกจะบอกถึงอากาศจะดีในวันรุ่งขึ้น ☺แต่ถ้าแดงเข้มในตอนเช้าหรือทิศตะวันออก หมายถึงจะมีพายุ ฝนฟ้าคะนองกำลังจะมา ชาวเรือจะไม่นิยมออกเรือนั่นเองครับ

วิทยาศาสตร์กับความเชื่อและการคาดการณ์บางอย่างของคนในอดีต บางอย่างสามารถพิสูจน์และเชื่อมโยงถึงข้อเท็จจริงได้ ในเมื่อเรามีเทคโนโลยีและนวัตกรรม เราก็ใช้ให้เกิดประโยชน์มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ แอดมินภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการส่งต่อคุณค่าความรู้ที่มีเผยแพร่ต่อสาธารณชนต่อไป…ขอบคุณที่ติดตามครับ..
ขอบคุณข้อมูลจาก
1.ยารินดา อรุณ. เหตุใดท้องฟ้าจึงเปลี่ยนสี.
2.ปรากฏการณ์ฟ้าแดง. สืบค้นเมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2563. จาก https://rainweather.blogspot.com/2017/05/blog-post.html
3.นายณัทธร แก้วภู่ นักภูมิสารสนเทศชำนาญการ
ฝ่ายทรัพยากรธรรมชาติ สำนักประยุกต์และบริการภูมิสารสนเทศ จากจิสด้า
#gistda #Spacetechnology #จิสด้า #จิสด้าก้าวสู่ปีที่20 #เที่ยว #กระบี่ #ทะเล #อากาศ #เที่ยวปันสุข #ภาคใต้