บทความ

แหล่งรวมพันธุกรรมพันธุ์ไม้ในป่าพรุ…ณ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองฯ

ป่าพรุ (Peat swamp forest) เป็นป่าชุ่มน้ำประเภทหนึ่ง ที่มีต้นไม้ขึ้นอยู่บนชั้นซากพืช หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า “พีท” ในพื้นที่ที่มีน้ำขังเกือบทั้งปี มีซากอินทรียวัตถุทับถมทำให้ดินยุบตัวลงได้ง่าย เป็นป่าที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่แตกต่างไปจากป่าประเภทอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นดินในป่าพรุจะเป็นดินอินทรีย์ ที่เกิดจากการทับถมของซากพืชที่ร่วงหล่นมาเป็นเวลานาน ทำให้การย่อยสลายเป็นไปอย่างช้าๆ และน้ำจะเป็นสีน้ำตาลคล้ายน้ำชา เป็นน้ำฝาดที่ได้จากการสลายตัวของซากพืชและอินทรียวัตถุ มีรสชาติเฝื่อนเล็กน้อย และมีสภาพเป็นกรดมากกว่าค่าของน้ำปกติ (pH ต่ำกว่า 7) ส่วนสังคมพืชในป่าพรุ จะมีระบบการพัฒนาระบบรากแบบต่างๆ ให้สามารถอยู่รอดได้ในพื้นที่ป่าพรุ

พันธุ์ไม้ในป่าพรุ พันธุ์ไม้ที่ขึ้นในป่าพรุส่วนใหญ่จะมีรากแก้วค่อนข้างสั้น มีรากแขนงแผ่กว้าง แข็งแรง และส่วนใหญ่มีรากค้ำยัน (Stilt roots) เช่น ตังหน (Calophyllum inophylloides) ละไมป่า (Baccaurea bracteata) และยากา (Blumeodendron kurzii) เป็นต้น โคนต้นมักมีพูพอน (buttresses) สูงใหญ่ พันธุ์ไม้บางชนิดมี รากหายใจ (breathing roots หรือ pneunatophores) โผล่พ้นระดับผิวดินขึ้นมาในลักษณะต่างๆ กัน เช่น ตั้งขั้นแล้วหักพับลงคล้ายหัวเข่าโค้งคล้ายสะพานหรือรูปครึ่งวงกลมคล้ายบ่วง และติดกันเป็นแผ่นคล้ายกระดาน บิดคดเคี้ยวไปมา เป็นต้น

ในประเทศไทย พื้นที่ที่มีป่าพรุเกิดขึ้นนั้น มักจะเป็นที่ภาคตะวันออก และภาคใต้ตั้งแต่จังหวัดชุมพรลงไป และพบในภาคกลางบางส่วน ในปัจจุบัน พื้นที่ป่าพรุที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย คือ ป่าพรุสิรินธร หรือป่าพรุโต๊ะแดง ในจังหวัดนราธิวาส มีเนื้อที่กว่า 125,625 ไร่ หรือ 201 ตารางกิโลเมตร และจากการสำรวจพันธุ์ไม้ของป่าพรุในจังหวัดนราธิวาส โดยคณะนักพฤกษศาสตร์ของกรมป่าไม้ ตั้งแต่ปี 2526 เป็นต้นมา และได้พบพันธุ์ไม้หลายชนิดที่ปรากฏเป็นครั้งแรกในประเทศไทย (new record species) ซึ่งผลการสำรวจพันธุ์ไม้ในป่าพรุจนถึงปี 2529 พบว่ามีอยู่ทั้งหมด 68 วงศ์ (families) 223 ชนิด (species) ในจำนวนนี้มีชนิดที่ปรากฏเป็นครั้งแรกในประเทศไทย 44 ชนิด เช่น สะท้อนนก (Sandoricum emarginatum) และเทียะ (Dialium patens) หมากแดง (Cyrtostachys lakka) ซึ่งเป็นปาล์มชนิดหนึ่งที่นิยมปลูกเป็นไม้ประดับที่มีราคา และพันธุ์ไม้ประดับบนพื้นล่างของป่าที่พบทั่วไปอีกชนิดหนึ่ง คือ รัศมีเงิน หรือริ้วเงิน (Aglaonema nitidium) เป็นต้น

ป่าพรุจำลอง ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองฯ ได้จำลองมาจากป่าพรุโต๊ะแดง ร่วมกับการจำลองป่าเสม็ดเพื่อเปรียบเทียบความแตกต่างระหว่างป่าพรุกับป่าเสม็ด และจัดเป็นนิทรรศการป่าพรุ-ป่าเสม็ดจำลองแห่งแรกและแห่งเดียวของประเทศไทย ในด้านความหลากหลายของพันธุ์ไม้ พบว่ามีมากกว่า 107ชนิด โดยแบ่งออกเป็น 3 ประเภทหลักๆ ได้แก่ 1. ไม้เสม็ดขาว 2. พืชตระกูลปาล์ม เช่น สาคู หลุมพี หมากแดง และ 3.กระบุย และอื่นๆ ก็จะเป็นไม้เบิกนำ เช่น มะฮังเล็ก มะฮังใหญ่ หว้านา หว้าหิน ขี้หนอนพรุ และกระพ้อแดง เป็นต้น นอกจากนี้ยังพบความหลากหลายของสัตว์ป่านานาพันธุ์ เช่น กบ เขียด กุ้ง หอย ปู และปลาน้ำจืดหลากชนิดอีกด้วย ซึ่งจะเห็นได้ว่า ป่าพรุให้คุณประโยชน์แก่มวลมนุษย์ไม่น้อยไปกว่าสังคมพืชป่าไม้ชนิดอื่นๆ ทั้งประโยชน์ในแง่การใช้ไม้และของป่า เป็นสถานศึกษาธรรมชาติในเชิงวิชาการ และโดยเฉพาะเป็นแหล่งรวมพันธุกรรมของพันธุ์ไม้และสัตว์ที่หายาก และเป็นที่อยู่อาศัยและแหล่งอาหารของสัตว์ป่า และนกนานาชนิดตลอดจนสัตว์น้ำนานาพันธุ์ อีกด้วย

สำหรับ ป่าพรุจำลอง ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองฯ เป็นแหล่งรวมพันธุกรรมของพันธุ์ไม้ในป่าพรุ และเส้นทางศึกษาธรรมชาติป่าพรุ-ป่าเสม็ดจำลองแห่งแรกและแห่งเดียวของประเทศไทย อีกทั้งสามารถเป็นแหล่งเรียนรู้ และศึกษาดูงานสำหรับเกษตรกร นักเรียน นักศึกษา และประชาชนทั่วไป ที่สนใจ สามารถติดต่อเข้าชมได้ที่ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองฯหรือ โทร.073-631033,073-631038 E-mail :cpt_1@ldd.go.th Website : www.pikuthong.com
อภิชาติ รัตนวิระกุล ข้อมูล / กฤษณี คงสวัสดิ์ เรียบเรียง