บทความ

หนึ่งสมอง…กับสองมือ…อีกหนึ่งใจ

“การที่คนเราสามารถทำมาหาเลี้ยงชีพให้ครอบครัวและตัวเองให้มีชีวิตที่ดีขึ้น มาจนถึงทุกวันนี้ นับเป็นความภาคภูมิใจอย่างที่สุด แม้จะตรากตรำ ลำบาก เหน็ดเหนื่อยสักเพียงใดก็ตาม แต่เพื่อคนที่เรารัก สิ่งที่ได้มาคือครอบครัวอบอุ่นและดำเนินชีวิตอยู่อย่างมีความสุข”

นางสาววาสนา ภู่ทับทิม เกษตรกรของบ้านใหม่ ซึ่งเป็น 1 ใน 13 หมู่บ้านรอบศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ได้เผยถึงความรู้สึกจากใจว่า เดิมเป็นชาวจังหวัดนครศรีธรรมราช หลังแต่งงานจึงย้ายมาอยู่กับสามีที่นราธิวาส ในปี 2540 มาอาศัยอยู่บ้านเลขที่ 72/3 หมู่ที่ 5 บ้านใหม่ ตำบลกะลุวอเหนือ อำเภอเมือง จังหวัดนราธิวาส มีสมาชิกในครอบครัว 3 คน เมื่อมาอยู่ใหม่ๆ ได้ทำข้าวเกรียบปลาขาย ในขณะเดียวกันก็ปลูกแตงโมไปด้วย ซึ่งความที่ไม่มีความรู้ด้านการเกษตรมาก่อน การปลูกแตงโมครั้งนี้จึงลงทุนสูงพอสมควร ต้องซื้อทั้งเมล็ดพันธุ์และปุ๋ย ผลที่ได้ไม่คุ้มทุนสักเท่าไหร่ จึงเข้าไปขอคำปรึกษาจากเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ ศูนย์ศึกษาการพิกุลทองฯ เกี่ยวกับการใช้มูลแพะเพื่อลดต้นทุนการใช้ปุ๋ยเพราะเป็นสัตว์เศรษฐกิจที่ชาวบ้านมุสลิมนิยมเลี้ยงกันมาก การปลูกแตงโมจึงจุดประกายให้ตัดสินใจเลี้ยงแพะได้เร็วขึ้น

จากนั้นได้เรียนรู้การนำมูลแพะมาใช้กับพืชผัก โดยทำปุ๋ยหมัก กองหญ้าแห้งหรือใช้ต้นข้าวโพดที่มีใบที่เก็บผลผลิตแล้ว กองสลับกับมูลแพะ แล้วรดน้ำพอชุ่ม กองประมาณ 5 ชั้น ประมาณ 15 วัน กลับกอง 1 ครั้ง ทิ้งไว้ประมาณ 45 วัน ก็นำมาใช้กับพืชผักที่ปลูกได้ เช่น พริกขี้หนู มะเขือ ผักบุ้ง และเมื่อจำเป็นต้องศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับการปลูกผักมากขึ้น จึงเข้าไปศึกษาเรียนรู้การปรับปรุงบำรุงดิน การปลูกพืชผัก พืชไร่ที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองฯ จนกลายเป็นเกษตรกรของศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองฯ ได้นำความรู้มาปรับใช้ในการปลูกพืชผัก พืชไร่ ในพื้นที่ประมาณ 10 ไร่ ซึ่งเป็นที่ดินของสามี และพี่น้องสามี ทั้งที่ไม่ค่อยมีความรู้ในการปลูกผัก และดินเป็นดินทรายขาดความอุดมสมบูรณ์ ทำให้พืชผักที่ปลูกไม่ค่อยสมบูรณ์ให้ผลผลิตน้อยมาก ส่วนแพะที่เลี้ยง ขายทั้งตัวและนำมูลแพะมาทำปุ๋ย ต่อมาได้ไปอบรมหลักสูตรต่างๆ เพื่อเรียนรู้ด้านการทำเกษตรรูปแบบต่างๆ กับศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองฯ และได้ร่วมโครงการศึกษาดูงานในพื้นที่ของเกษตรกรจังหวัดต่างๆ เป็นการเปิดโอกาสให้ตัวเองมากขึ้น ได้นำความรู้มาปรับใช้ในพื้นที่ของตนได้อีกด้วย

#เกษตรกรรุ่นใหม่ ด้วยความขยันทำมาหากิน คิดและทำกิจกรรมต่างๆ ต่อเนื่องของนางสาววาสนา เกษตรกร วัย 46 ปี โดยมีสามีเป็นผู้ช่วยและร่วมลงแรง อีกทั้งนางสาววาสนายังใฝ่หาความรู้ใหม่ๆ จึงไปสมัครเป็นสมาชิกอาสาเกษตรหมู่บ้าน กับสำนักงานเกษตรอำเภอเมืองนราธิวาส และเป็นอาสาสมัครเกษตรประจำตำบล กับสำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัดนราธิวาส ซึ่งต้องมีการประสานงานกับส่วนราชการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเกษตรอยู่เสมอ ทำให้มีโอกาสได้เข้ารับการฝึกอบรมหลักสูตรต่างๆ และเป็นพี่เลี้ยงให้กับหน่วยงานที่เกี่ยงข้อง โดยช่วยเหลือการจัดอบรมให้เกษตรกร นั่นคือทำให้ได้รับความรู้ด้านต่างๆ เพิ่มขึ้น และยังได้เป็นสมาชิกเครือข่ายศูนย์บ่มเพาะเกษตรกรรุ่นใหม่จังหวัดนราธิวาส ในปี 2557 ได้เป็นสมาชิกเครือข่าย Yong Smart Farmer จังหวัดนราธิวาส จึงทำให้นางสาววาสนา มีทางเลือกในการประกอบอาชีพมากขึ้น ในขณะเดียวกันเมื่อเป็นสมาชิกหลายๆ แห่ง ทำให้เวลาในการดูแลพืชผัก การเลี้ยงสัตว์ ก็น้อยลง เพราะต้องออกนอกบ้านเพื่อไปทำกิจกรรมของสมาชิก แต่ทำให้ได้รับความรู้และประสบการณ์เพิ่มขึ้น

ต่อมาศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองฯ ได้สนับสนุนทะลายปาล์ม เพื่อใช้ทำปุ๋ยหมัก และสนับสนุนโรงเรือนแบบโครงเหล็กขนาดกว้าง 1.20 เมตร ยาว 2.40 เมตร จำนวน 1 หลัง เพื่อใช้ปลูกผักไร้ดินหรือผักไฮโดรโปรนิกส์ สำนักงานเกษตรจังหวัดนราธิวาส ให้การสนับสนุนแคร่ปลูกผักขนาด 1.20 x 4.00 เมตร จำนวน 4 แคร่ จึงทำการปลูกผักแบบยกแคร่ ซึ่งช่วยประหยัดพื้นที่ ป้องกันน้ำท่วมขัง และช่วยกำจัดวัชพืชได้ง่าย ที่สำคัญการปลูกผักยกแคร่ จะเน้นการปลูกพืชแบบอินทรีย์ ไม่ใช้สารเคมีใดๆ และได้ลาออกจากอาสาสมัครเกษตรของสำนักงานเกษตรและสหกรณ์ เมื่อปี 2563 เนื่องจากต้องลดกิจกรรมเพื่อให้เวลากับการปลูกผักสลัดมากขึ้น

ปัจจุบันปี 2566 ได้ใช้พื้นที่หลังบ้าน เลี้ยงแพะ จำนวน 3 ตัว เลี้ยงวัว จำนวน 8 ตัว ทั้งนี้ได้นำมูลวัวมาใช้ทำปุ๋ยในแปลง และเป็นส่วนประกอบของปุ๋ยหมักที่ทำไว้ใช้เอง ช่วยลดต้นทุนเรื่องปุ๋ยอย่างมาก ส่วนพื้นที่รอบบ้าน จำนวน 2 งาน ได้ปลูกผักสลัดแบบยกแคร่ ต้องอาศัยการปรับปรุงดินด้วยปุ๋ยหมักจำนวนมากพอสมควร จึงหันมาปลูกผักแบบยกแคร่ ซื้อหน้าดินมาผสมกับเปลือกมะพร้าวสับ ใส่ปุ๋ยหมักที่มีส่วนผสมของมูลวัว เนื่องจากพื้นที่บริเวณบ้านใหม่ เป็นดินทรายจัดมีความอุดมสมบูรณ์ต่ำ ดังนั้นการปลูกพืชผักในดินจึงไม่ค่อยสมบูรณ์มากนักเพราะต้องดูแลเอาใจใส่ตลอด จึงหันมาปลูกผักสลัดชนิดต่างๆ เช่น กรีนโอ๊ค เรดโอ๊ค กรีนคอส สามารถเก็บผลผลิตได้ทุกวัน สร้างรายได้วันละ 300-500 บาท นอกจากนี้ช่วงวันเสาร์-อาทิตย์ ยังพอมีเวลาว่าง จึงไปเรียนรู้เพิ่มเติมโดยเข้าร่วมโครงการบัณฑิตพันธุ์ใหม่ (Up Skill-Re Skill) ซึ่งเป็นหลักสูตรการผลิตพืชด้วยระบบอัจฉริยะ และกำลังคนที่มีสมรรถนะ เพื่อตอบโจทย์ภาคการผลิตตามนโยบายการปฏิรูปการอุดมศึกษาไทย ประเภทประกาศนียบัตร รุ่นที่ 1 คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ โดยได้เรียนรู้เกี่ยวกับการทำเกษตรอัจฉริยะในทุกด้าน ทั้งการปลูก การตลาด การใช้เทคโนโลยีในด้านการให้น้ำและการผลิตพืช ซึ่งเป็นการเรียนรู้พร้อมการปฏิบัติจริงในพื้นที่ฟาร์ม ผู้เรียนต้องออกแบบการให้น้ำและการผลิตพืชแตกต่างกันไปตามสภาพพื้นที่ของแต่ละฟาร์ม

#ผลงานอัจฉริยะ หลังจากจบหลักสูตรที่ถือว่าเป็นการเรียนรู้อย่างสรรค์ให้เกิดผลงาน ทำให้นางสาววาสนาได้มีโอกาสเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ เพื่อพัฒนาต่อยอดอาชีพของตนได้มากขึ้น และได้กลับมาจัดทำระบบน้ำอัจฉริยะใช้ในพื้นที่ปลูกผักรอบบ้าน คือต้องมาวางแผนพื้นที่ การใช้น้ำ และปริมาณการใช้น้ำของผักแต่ละชนิดต้องได้รับน้ำอย่างพอดี จากนั้นลงทุนซื้ออุปกรณ์เครื่องสูบน้ำ ท่อน้ำ เมื่อประกอบอุปกรณ์ทั้งหมดสามารถเปิดใช้น้ำอัจฉริยะได้ หากมีธุระจำเป็นต้องไปต่างพื้นที่หรือต่างจังหวัด สามารถสั่งเปิดระบบน้ำผ่านโทรศัพท์มือถือได้อย่างสะดวก อยู่ที่ไหนผักที่บ้านยังสดไม่เหี่ยวแห้ง นับว่าเป็นการลงทุนที่คุ้มค่ามาก ทุกวันนี้เวลาว่างมีน้อยมาก แต่ละวันใช้เวลาอยู่กับพืชผัก และเก็บผักไปส่งจำหน่ายให้กับลูกค้าถึงบ้าน เพราะส่วนใหญ่รับออร์เดอร์ผ่านช่องทางออนไลน์ ทั้ง Line FB ส่วนตัว และช่องทางเพจของอร่อยนราธิวาส ซึ่งมีสมาชิกมากกว่า 7 หมื่นคน

#ความสุขกับก้าวต่อไป ท้ายที่สุด นางสาววาสนากล่าวว่า สิ่งสำคัญคือต้องยืนหยัดด้วยตนเองหาความรู้ใหม่ๆ อยู่เสมอและการได้รู้จักพูดคุยกับคนอื่นคือกำไรในการประกอบอาชีพ เพราะคนเราต้องมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน และต้องทำงานมากขึ้นเพราะส่งลูกสาวเรียนระดับปริญญาตรี การทำการเกษตรของตนนั้น จะไม่หยุดเพียงแค่นี้ นอกจากปลูกผักสลัดยืนหนึ่งแล้ว ต่อไปจะปลูกพืชผักที่เป็นส่วนประกอบของการทำสลัด เช่น มะเขือเทศ ต้นอ่อนทานตะวัน เป็นต้น ต่อไปจะส่งสลัดพร้อมทานให้ลูกค้าได้ถึงมือและอิ่มอร่อยแบบเกษตรอินทรีย์ ทุกวันนี้ก็มีความสุขพอใจในสิ่งที่ทำ อยากให้ทุกคนหันมาดูแลสุขภาพ ปลูกผักและบริโภคผักที่เป็นอินทรีย์ แหละนี่คือความสุขในแบบฉบับของนางสาววาสนา ภู่ทับทิม เกษตรกรผู้ไม่หยุดนิ่งและค้นหาสิ่งใหม่มาพัฒนาต่อไป
cr:นางขวัญจิรา สุวรรณ จนท.วิเคราะห์นโยบายและแผน ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองฯ